ก.ล.ต.เผยผลวิจัย มธ.ชี้ตลาดหุ้นตอบสนองทางบวกหลังรับข่าว บจ.ออกหุ้นกู้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 25, 2014 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กล่าวในงานสัมมนา“SEC Working Papers Forum ครั้งที่ 2"ที่สำนักงาน ก.ล.ต.ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอผลวิจัยในหัวข้อ“ซื้อหุ้นให้ดูบอนด์"ว่า ในปี 2556 การระดมทุนด้วยตราสารหนี้ได้รับความนิยมมาก บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออกหุ้นกู้ระยะยาวมีมูลค่าระดมทุนเกือบ 5 แสนล้านบาท การศึกษาพฤติกรรมและการตัดสินใจของผู้ลงทุนจากความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ออกหุ้นกู้จะช่วยให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจกับบริษัทในการระดมทุนที่เหมาะสม ขณะที่ผู้ลงทุนสามารถพิจารณาข้อมูลที่จะเป็นสัญญาณแจ้งเตือนก่อนการปรับเปลี่ยนการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจดทะเบียนที่ออกหุ้นกู้ ซึ่งจะมีผลกับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนได้

นายศักดา ถิระโสภณ ผู้วิจัยจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า งานวิจัยนี้ มุ่งเน้นตอบปัญหาในสองประเด็น ประเด็นแรกคือการตรวจสอบผลการตอบสนองของราคาหุ้นสามัญ เมื่อบริษัทจดทะเบียนมีการประกาศออกหุ้นกู้ ด้วยวิธีศึกษาเหตุการณ์ (Event Study*) และประเด็นที่สองคือ การอธิบายผลการตอบสนองข้างต้นว่าเป็นไปตามทฤษฎีทางการเงินทฤษฏีใด ด้วยแบบจำลอง Multiple Regression โดยใช้ข้อมูลของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2547 - 2556 เป็นกลุ่มตัวอย่าง

จากการศึกษาพบว่า ตลาดหุ้นมีการตอบสนองต่อการออกหุ้นกู้ในทางบวกโดยเกิดกำไรเกินปกติ และการตอบสนองของเหตุการณ์ เป็นไปตามทฤษฎีการชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์และผลเสียจากการก่อหนี้ กล่าวคือ หากการออกหุ้นกู้ของบริษัทได้รับผลประโยชน์มากกว่าผลเสีย ตลาดหุ้นจะตอบสนองต่อการออกหุ้นกู้ในทางบวก ในทางตรงกันข้าม หากการออกหุ้นกู้ครั้งนั้นมีผลเสียมากกว่า ราคาหุ้นจะมีการตอบสนองต่อการออกหุ้นกู้ในทางลบ การศึกษานี้ จึงเป็นประโยชน์แก่บริษัทจดทะเบียนในการให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจระดมทุนที่เหมาะสม เพื่อสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับบริษัท รวมทั้งผู้ลงทุนที่จะสามารถนำไปสร้างกลยุทธ์ในการลงทุนที่มีประสิทธิผล

รศ.จิรพล จิยะจันทน์ ผู้วิจัยจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยการศึกษาซึ่งเน้นถึงบทบาทของข้อมูลหรือการส่งสัญญาณที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะประกาศออกมา (credit watch placement) ก่อนมีการปรับเปลี่ยนอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียน โดยพบว่าข้อมูลหรือสัญญาณดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับราคาหุ้นของบริษัท โดยเฉพาะต่อราคาหุ้นของบริษัทที่มีข้อมูลสัญญาณแจ้งเตือนก่อนปรับเปลี่ยนการจัดอันดับจริงจะมีนัยสำคัญกว่าบริษัทที่ไม่มีการส่งสัญญาณดังกล่าว และการมีข้อมูลสัญญาณแจ้งเตือนจะช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้นได้ นอกจากนี้ ข้อมูลที่เป็นสัญญาณดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนในการตัดสินใจลงทุนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ