ดังนั้น การที่งานนี้มีบริษัทจดทะเบียน(บจ.)จำนวน 113 บริษัทเข้าร่วมให้ข้อมูลจึงเป็นจุดสนใจของผู้เข้าร่วมงาน ทำให้การประชุมรวมตลอดงานมีมากกว่า 1,122 ครั้ง และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 700 คน ทั้งผู้ลงทุน ผู้บริหาร บจ. รวมถึงแขกผู้มีเกียรติจากภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา ลาว เวียดนาม และ บจ.ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมงานด้วย
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าจำนวนผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้อาจจะไม่ได้มากกว่าปีก่อนๆ หรือลดลงเล็กน้อย โดยปัจจัยส่วนหนึ่งคือการที่ประเทศยังใช้กฎอัยการศึกอยู่ ทำให้สถาบันต่างประเทศบางแห่งไม่สามารถส่งตัวแทนเข้ามาร่วมงาน และ Theme ในการจัดงานครั้งก่อนเป็นความร่วมมือของตลาดทุนกลุ่มลุ่มน้ำโขง(GMS) ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากกว่า แต่ปีนี้เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมของรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
แต่ตลาดหุ้นไทยก็ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติทั่วไป เพราะ บจ.ไทยยังแข็งแกร่ง และมีเงินสดในมือเกือบ 7% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ขณะที่บริษัทที่เป็นหนี้ยังมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย 6-7 เท่า สะท้อนพื้นฐานของ บจ.ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
นายกฤติยา วีรบุรุษ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บล.ภัทร กล่าวว่า เงินลงทุนจากต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้าสู่ประเทศไทย โดยผู้ลงทุนต่างประเทศกลับมาซื้อสุทธิตั้งแต่ก.ค.จนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต โดยเนื้อหาหลักที่อยู่ในความสนใจของผู้ลงทุนต่างชาติและจะมีการนำเสนอในงานครั้งนี้ ได้แก่ แนวทางการปฏิรูปประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบายเศรษฐกิจ แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ บจ.ไทย
"จึงเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนในครั้งนี้ นอกจากจะสนับสนุนการลงทุนในตลาดทุนไทยแล้วจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศและภูมิภาคนี้ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน" นายกฤติยา กล่าว
ด้าน น.ส.อรกัญญา พิบูลธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ สาขาประเทศไทย ธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินซ์ กล่าวว่า มูลค่าการลงทุนของผู้ลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเดือนก.ค.มูลค่าการถือครองที่เพิ่มขึ้นกว่า 1.2 พันล้านดอลล่าสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเซีย การที่ผู้ลงทุนต่างประเทศมีความเข้าใจในแนวคิดในการปฏิรูปและการบริหารประเทศทำให้ทัศนคติในการลงทุนดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ลงทุนต่างประเทศเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่ามูลค่าการลงทุนของผู้ลงทุนต่างประเทศในปี 2557 นี้จะสูงกว่าปี 2556 แน่นอน
"ในเดือน ก.ค.มูลค่าถือครองหุ้นและพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเป็น 3.6 หมื่นล้านบาท จากเดือน มิ.ย.อยู่ที่กว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหลักทรัพย์ที่เข้าซื้อเพิ่มและราคาที่สูงขึ้น โดยในเดือนส.ค.เชื่อว่ายังมี Momentum ที่ดีอยู่ สะท้อนว่านักลงทุนเข้าใจการทำงานของ คสช.ที่จะผลักดันงานด้านเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐ"น.ส.อรกัญญา กล่าว
ดังนั้น ประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลผู้ลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนต่างชาติที่มาร่วมงาน Thailand Focus มาจากในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการกระจายการลงทุนไปทั่วโลก โดยประเด็นที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจคือ ทิศทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะแผนกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพราะเป็นปัจจัยหลักสำหรับอัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ตลอดจนนโยบายหลักต่างๆ ที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาบริหารจัดการประเทศในลำดับต่อไป
"โดยส่วนตัวเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อปลดล็อคให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว และนักลงทุนสถาบันต่างชาติสามารถเข้ามาลงทถุนในไทยได้ นอกจากนั้น ยังควรมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศระยะสั้น เพื่อผลักดัน GDP ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ให้ขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก"น.ส.อรกัญญา กล่าว