นายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ กรรมการผู้จัดการ บมจ. เด็มโก้ (DEMCO) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมพร้อมรับงานก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เร่งส่งเสริมผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัทฯคาดว่าจะได้รับงานดังกล่าวไม่น้อยกว่า 10% ของคาดการณ์มูลค่าลงทุนทั้งระบบ หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบทั้งการรับงานก่อสร้างและลงทุนเป็นผู้ผลิตเอง โดยบริษัทสนใจการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน หรือโซลาร์ชุมชนที่ภาครัฐจะสนับสนุนรวม 800 เมกกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้เตรียมเข้าไปเจรจาราคาแผงโซลาร์เซลล์กับผู้ผลิตหลายราย หากเห็นว่าแนวทางเป็นไปตามที่บริษัทฯมองไว้ก็จะลงทุนทันที
"การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff แบบโซลาร์ชุมชนนั้น เรามองว่าค่า FIT ค่อนข้างต่ำ จากการคำนวนผลตอบแทนที่จะได้กลับคือมาจะอยู่ที่ 12% เราก็มาดูในด้านสภาพคล่องของบริษัท และคิดในด้านของการลงทุนก่อสร้างเพื่อเตรียมเงินลงทุนเอาไว้ โดยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุน ซึ่ง 1-2 สัปดาห์นี้บริษัทฯก็จะเข้าไปเจรจาต่อรองราคาแผงกับผู้ผลิตแผงหลายราย หากดูแล้วมันคุ้มค่าเราก็จะลงทุน แต่เรามองว่าโอกาสของเราคือการเข้าไปรับงานก่อสร้าง ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทฯปีนี้ ยังคงอัตราการเติบโตของรายได้ไว้ที่ 5, 200 ล้านบาท จากงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ราว 3,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ในปี 58 รวมถึงรับรู้รายได้จากงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าอีกราว 400 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้แล้ว 1,828 ล้านบาท
บริษัทยังคงประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทฯได้เข้าไปประมูลงานประเภทงานก่อสร้างสายส่งและสถานีไฟฟ้าใน สปป.ลาว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนช่วงปลายปีนี้ รวมทั้งงานสัมปทานสาธารณูปโภคที่จะทราบผลใน 2 เดือนนี้ เบื้องต้นบริษัทตั้งงบลงทุนไว้ราว 1,000 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทเสนอราคางานสถานีโรงไฟฟ้าหรืองาน Substation ที่พม่ามูลค่าราว 200 ล้านบาทไปแล้ว แต่ยังมีข้อติดขัดเงื่อนไขบางประการและอยู่ระหว่างรอผล
ส่วนความคืบหน้าของโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะที่บริษัทร่วมมือกับพันธมิตรจากสเปน จากเดิมบริษัทฯมองพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าไว้ทั้งสิ้น 5 แห่ง ขณะนี้สามารถสรุปได้แล้ว 2 แห่งในภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสาน ขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 8 เมกะวัตต์ เบื้องต้นตั้งงบลงทุนไว้ 25% ของรายได้รวม และคาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 58