บลจ.ฟินันซ่า เปิดขายกองตราสารหนี้ 3 เดือน คาดผลตอบแทน 2.75%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 28, 2014 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน รรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ฟินันซ่า เปิดเผยว่า บริษัทเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ 3 เดือน ชื่อกองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3เดือน3 (FAM FIPR3M3) โดยมีอัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 2.75% ต่อปี เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม – 2 กันยายน 57 ซึ่ง เป็นกองทุนที่โรลโอเวอร์มาจากการขายกองทุนก่อนหน้านี้ เป็นกองทุน Specific fund

ทั้งนี้ บลจ.ฟินันซ่า ประเมินจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ที่มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรก ของปี 57 โดยกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.4% หลังจากที่หดตัวลงไปร้อยละ 0.5% ในช่วงไตรมาสแรก ของปี 57 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว ประกอบกับการเบิกจ่ายภาครัฐทำได้ดีขึ้น โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติรับ พรบ.งบประมาณ ปี 58 ในวาระแรกไปแล้ว และสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังได้เห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย นับเป็นจุดเริ่มต้นของโรดแมปขั้นที่ 2

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจโลก การประชุมประจำปีของเฟดสาขาแคนซัส ที่เมือง Jackson Hole เป็นที่จับตาของนักลงทุนทั่วโลก นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ระบุว่าการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่งหลัง QE อย่างไรก็ตาม หากตลาดแรงงานดีขึ้นต่อเนื่องก็มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าและมากกว่าที่คาด

ด้านสถานการณ์ในอิรักอาจมีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่กลุ่มติดอาวุธ IS ในอิรักได้สังหารนักข่าวชาวสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้สหรัฐฯที่โจมตีทางอากาศ ในช่วงระหว่างรอดอกเบี้ยปรับขึ้นมาและสภาวะตลาดที่มีความไม่แน่นอน การลดความเสี่ยงโดยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ประเภทครบกำหนดอายุโครงการประเภท 3 เดือนตอนนี้ จึงเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

กองทุน FAM FIPR3M3 จะพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงินและ/หรือ เงินฝากของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ เงินฝากธนาคารต่างประเทศสกุลเงิน USD, CNY, HKD, EUR, JPY กับธนาคาร BOC (Macau), Standard Chartered Bank (Hong Kong), ธนาคาร CIMB Niaga (Indonesia) หรือเงินฝากสกุลเงิน AED ธนาคาร Abu Dhabi Commercial Bank, UAE (F1), ธนาคาร Union National Bank, UAE(P-1), ตั๋วเงินหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ, ตั๋วแลกเงิน บมจ.ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) (BBB), ตั๋วแลกเงิน บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง(BBB+), ตั๋วแลกเงิน บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (BBB+), บจ.บีเอสแอล ลีสซิ่ง(BBB) หรือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป, ตั๋วเงินคลัง หรือ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ