นายปรีชา กล่าวอีกว่า ซีพีเอฟสนับสนุนเกษตรกรที่ร่วมโครงการเลี้ยงสุกรขุนแก่เกษตรกรรายย่อย หรือคอนแทคฟาร์มในต.แพรกหา นำมูลสุกรเข้าสู่ระบบไบโอแก๊สแบบ Plug Flow ที่สามารถชักกากตะกอนได้ ทำให้ระบบผลิตแก๊สมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งแก๊สส่วนหนึ่งจะนำไปผลิตก๊าซชีวภาพเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนกระแสไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม ช่วยลดค่าใช้ไฟฟ้าได้ 30% ต่อเดือน โดยมีเกษตรกร 4 ราย ที่ร่วมโครงการนำร่องผลิตแก๊สชีวภาพเพื่อชุมชน ได้แก่ จักรพงษ์ฟาร์ม ขนาดบ่อไบโอแก๊ส 100 ลบ.ม. สมเกียรติฟาร์ม ขนาดบ่อ 300 ลบ.ม. สุจินต์ฟาร์ม ขนาดบ่อ 100 ลบ.ม. และกำธรฟาร์ม ขนาดบ่อ 100 ลบ.ม. มีปริมาตรบ่อไบโอแก๊สรวมทั้งหมด 600 ลบ.ม. สามารถผลิตแก๊สมีเทนได้วันละ 300 ลบ.ม. และแก๊สอีกส่วนจะเข้าสู่ระบบท่อรวมเพื่อส่งต่อไปยังบ้านเรือนของชาวแพรกหาต่อไป
ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งของบริษัทและเกษตรกรอิสระใน ต.แพรกหาเข้าร่วมโครงการนี้ 18 ราย สามารถผลิตไบโอแก๊สได้ถึง 2,822 ลบ.ม. รองรับ 2,600 ครัวเรือน ปัจจุบันใช้แก๊สแล้วกว่า 1,500 ครัวเรือน
สำหรับระบบจัดเก็บและระบบท่อจ่ายไปยังครัวเรือนต่างๆ นั้น กระทรวงพลังงานเป็นผู้สนับสนุนการก่อสร้าง ด้านซีพีเอฟให้การสนับสนุนเกษตรกรที่ร่วมโครงการผลิตไบโอแก๊ส ในรูปแบบของผลตอบแทนการเลี้ยง ที่จะได้รับเพิ่มอีก 15 สตางค์ต่อ 1 กิโลกรัมของน้ำหนักตัวสุกรที่ผลิตได้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับเกษตรกรที่หันมาใช้ระบบไบโอแก๊สที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ขณะเดียวกันยังช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่องกลิ่นมูลสุกรและแมลงวันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของชุมชน
ทั้งนี้ ซีพีเอฟได้ดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับการดำเนินธุรกิจมาตลอด ด้วยโครงการผลิตก๊าซชีวภาพมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยเป็นผู้นำระบบไบโอแก๊สมาใช้เป็นรายแรกของประเทศ เนื่องจากงานด้านปศุสัตว์จะเกิดของเสียทั้งมูลสัตว์และน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ที่มีจำนวนมาก เพียงพอที่จะนำไปใช้ผลิตพลังงานทดแทนได้ ขณะเดียวกัน ก็ได้ประโยชน์ในแง่ของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมรอบชุมชนนั้นๆ ด้วย โดยบริษัทได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแก๊สชีวภาพหรือไบโอแก๊สนี้สู่เกษตรกรรายย่อย เพื่อช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง