นิตยสารฟอร์บส์ ได้เปิดเผยหลักเกณฑ์การจัดอันดับโดยประเมินคุณภาพในการสร้างสรรค์ดีเด่นซึ่งคำนวณจาก ขนาดและการเติบโตของมูลค่าตลาดของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และการคาดการณ์กระแสเงินสด ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สร้างขึ้นโดย HOLT/Credit Suisse โดย บมจ. ซีพี ออลล์ เป็นบริษัทของไทยเพียงบริษัทเดียวที่ติดอันดับ 8 ใน 100 บริษัทของโลกและที่ 2 ของเอเชีย โดยมีคะแนนค่า Innovation Premium อยู่ที่ร้อยละ 57.8 แสดงถึงความสามารถของบริษัทและพนักงาน ในการสร้างความเติบโตให้ธุรกิจ ผ่านการนำเสนอสินค้า บริการ และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ คือ การคาดการณ์และความเชื่อมั่น ในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทในอนาคต นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร CPALL กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจของซีพี ออลล์ ได้ดำเนินการด้านนวัตกรรมไว้เป็น 4 รูปแบบ คือ Process Innovation (การสร้างสรรค์กระบวนการใหม่), Product Innovation (การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่), Service Innovation (การสร้างสรรค์บริการรูปแบบใหม่) และ Business Model Innovation (การสร้างสรรค์ธุรกิจในรูปแบบใหม่) เพื่อค้นหาและคิดค้น สินค้า บริการ ตลอดจนธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ที่นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพขององค์กรและผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนากระบวนการทำงาน อีกทั้งช่วยปลูกฝังให้พนักงานรู้จักสังเกตและมองเห็นโอกาส จนเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซีพี ออลล์ จึงได้จัดโครงการ ได้แก่ แอนท์มิชชั่น (Ant Mission) เพื่อปรับปรุงสายสำนักงาน โรงงานและคลังสินค้า,โครงการ “ปลาฝูงใหญ่" เพื่อการลดต้นทุนต่างๆ และเพิ่มยอดขายของสายปฎิบัติการ, โครงการ President Award เพื่อพัฒนากลุ่มธุรกิจและบริษัทในกลุ่มซีพี ออลล์ ซึ่งมีพนักงานส่งผลงานการปรับปรุงคุณภาพกว่า 1,000 โครงการ จากพนักงานที่ร่วมโครงการกว่า 50,000 คน
นอกจากนี้ล่าสุดในปี 2556 บริษัทจัด “โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ" เป็นโครงการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยร่วมกับ 10 องค์กรชั้นนำระดับประเทศ นำผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มาทดสอบกับกลุ่มลูกค้าในตลาด ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีอยู่ อาทิ 7 catalog ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสั่งซื้อสินค้าผ่านแคตตาล็อกและอีคอมเมิร์ซ รวมถึงร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีจำนวนมากกว่า 7,800 สาขาทั่วประเทศ พร้อมจัดการประกวดและให้รางวัล “สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards"
อีกทั้งในส่วนของการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชนซึ่งเป็น CSR หลักของบริษัท โดยได้ก่อตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ในปี 2548 และถือเป็นผู้ริเริ่มทางเลือกใหม่สำหรับการศึกษาไทย ด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนระบบทวิภาคีหรือการเรียนทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงาน ในสถานประกอบการจริง (Work-Based Learning) เพื่อสร้างมืออาชีพ ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านวิชาการและภาคปฎิบัติจนได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เมื่อ ปี 2550
“จากความมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้า บริการและการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากทีมงานของเราเองและที่ร่วมกับคู่ค้าอื่น ๆ จนได้รับการจัดอับดับให้เป็นบริษัทที่เป็นองค์กรสร้างสรรค์โดดเด่นที่สุดในประเทศ เป็นอันดับ 2 ในเอเชีย (The 10 Most Innovative Companies In Asia) และอันดับ 8 ของโลก (The World's Most Innovative Companies 2014) ครั้งนี้ มิได้แค่แสดงถึงการเติบโตอย่างก้าวหน้าและมั่นคงขององค์กรเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมขององค์กรที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุน ให้พนักงานทุกระดับชั้น แสดงออกซึ่งความคิดเห็นและแนวคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนางาน พัฒนาสินค้า บริการและพัฒนาบริษัทเป็นประจำ เพราะบริษัทเชื่อมั่นว่า การเปิดโอกาสให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และแสดงออกซึ่งแนวคิดใหม่ ๆ อยู่เสมอ จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้องค์กรของเราเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งและยั่งยืน" นายก่อศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย