ทริสคงอันดับเครดิตองค์กร LHBANK ที่ "A-" แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 4, 2014 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHBANK) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยธนาคารเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHFG) อันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางธุรกิจและการเงินของธนาคารที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการปรับสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจร อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการกระจายตัวของสินเชื่อ รวมทั้งการมีสินเชื่อที่มีคุณภาพดี การมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นหลักของ LHFG ด้วย

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากส่วนแบ่งทางการตลาดของธนาคารในสินเชื่อและเงินรับฝากซึ่งมีขนาดเล็ก ตลอดจนการมีแหล่งรายได้ที่กระจุกตัว และความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอ ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนอันเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยอาจกระทบต่อคุณภาพของสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวังและสร้างรายได้อย่างมั่นคงในระยะกลาง โดยอยู่บนพื้นฐานความสามารถของธนาคารในการควบคุมคุณภาพสินเชื่อมิให้เสื่อมถอยลง ตลอดจนดำรงเงินกองทุนส่วนเกินอย่างเพียงพอต่อความเสียหายที่เกินกว่าคาดการณ์ และรักษาฐานเงินทุนที่มั่นคงเอาไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

LHBANK เริ่มดำเนินธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อยในเดือนธันวาคม 2548 และได้ขยายขอบเขตธุรกิจภายหลังการได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์แบบเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2554 ธนาคารมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ LHFG โดย LHFG เป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในธุรกิจทางการเงินของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ผู้ถือหุ้นหลักของ LHFG ได้แก่ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) (ได้รับอันดับเครดิต “A+" จากทริสเรทติ้ง) บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์(QH) (อันดับเครดิต “A-") และนางสาวเพียงใจ หาญพาณิชย์ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 34%, 21% และ 17% ตามลำดับ ณ เดือนเมษายน 2557

ธนาคารได้รับประโยชน์จากการประสานความร่วมมือในกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกันในแง่การขยายธุรกิจและฐานลูกค้า ธนาคารมีขนาดของสินทรัพย์เกือบจะเล็กที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย โดยอยู่ในอันดับที่ 14 จากจำนวนทั้งสิ้น 16 แห่ง ณ เดือนมิถุนายน 2557 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 1.0% และเงินรับฝาก 1.1% ธนาคารได้ขยายสาขาเพื่อเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายและวางรากฐานรองรับการเติบโตในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

สินเชื่อของธนาคารขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 26% จากปี 2552 ถึงปี 2556 โดยเป็นการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ณ เดือนมิถุนายน 2557 ธนาคารมีสัดส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 51% สินเชื่อ SME 19% และสินเชื่อรายย่อย 30% ภายหลังการปรับสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจร ธนาคารได้มุ่งเน้นไปที่สินเชื่อธุรกิจซึ่งทำให้ธนาคารมีสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และส่งผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของสินเชื่อรายใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้เพิ่มความระมัดระวังในการอำนวยสินเชื่อใหม่ในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2557 สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับของธนาคารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 108.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากเดือนธันวาคม 2556

คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม คุณภาพของสินเชื่อได้เสื่อมถอยลงหลังจากธนาคารเร่งการเติบโต การผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยอันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ไม่ค่อยดี อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.9% ในปี 2555 เป็น 2.0% ในเดือนมิถุนายน 2557 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารได้เพิ่มปริมาณสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญส่วนเกินเพื่อรองรับการเสื่อมถอยของคุณภาพสินเชื่อในอนาคต โดย ณ เดือนมิถุนายน 2557 ธนาคารมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญคิดเป็น 150% ของสำรองขั้นต่ำตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มขึ้นจาก 115% ในปี 2555

ธนาคารมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2556 จำนวน 915 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 34% โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการควบคุมต้นทุนดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม ต้นทุนด้านเครดิตของธนาคารเพิ่มขึ้นจากการที่มีสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นและรวมถึงแผนการเพิ่มปริมาณสำรองส่วนเกินของธนาคาร ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารยังคงอ่อนแอเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในปี 2556 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงเป็นระดับต่ำที่สุดในระบบ ทั้งนี้ คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารน่าจะเพิ่มขึ้นหากธนาคารสามารถเพิ่มปริมาณเงินรับฝากจากลูกค้ารายย่อยได้หลังจากที่ได้ขยายเครือข่ายสาขาไปก่อนหน้านี้แล้ว

สถานะด้านสภาพคล่องและแหล่งเงินทุนของธนาคารยังคงเพียงพอ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2557 ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝากที่ระดับ 92% ซึ่งดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ธนาคารมีแผนการเพิ่มสัดส่วนเงินรับฝากรายย่อยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ฐานเงินทุนมีการกระจายตัวและมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น

เงินกองทุนส่วนเกินของธนาคารลดน้อยลงเนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่ออย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนยังคงแข็งแกร่งและเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า ณ เดือนมิถุนายน 2557 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 12.56% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 13.16% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ