HEMRAJ ลดเป้ายอดขายที่ดินปีนี้ลงเหลือ 1.2 พันไร่ แต่เชื่อรายได้ทรงตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 8, 2014 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเผ่าพิทยา สมุทรกลิน ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน และนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน(HEMRAJ)เปิดเผยว่า บริษัทปรับลดเป้ายอดขายที่ดินปีนี้ลงเหลือ 1.2 พันไร่ จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 1.6 พันไร่ โดยช่วงครึ่งปีแรกขายได้ 297 ไร่ ครึ่งปีหลังเชื่อว่าจะขายได้ตามเป้าหมาย 900 ไร่ ซึ่งปัจจุบันยอดขายรอโอน(Backlog)ราว 1.1 พันไร่ และจะสามารถโอนในปีนี้ได้ราว 70%

ประกอบกับ ความเชื่อมั่นของต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามาหลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น และภาครัฐอนุมัติสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้การส่งเสริมการลงทุน(BOI)มูลค่าราว 5 แสนล้านบาทในช่วงที่ผ่านมาที่ช่วยให้ยอดขายจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ขณะที่รายได้จากการดำเนินงานปีนี้คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน หรือลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ทำได้ราว 8 พันกว่าล้านบาทจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีผลกระทบกับการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทมีการปรับเป้ายอดขายที่ดินลง แต่อย่างไรก็ตามยังมีรายได้จากด้านอื่นๆที่ทำให้รายได้ปีนี้จะทรงตัวจากปีก่อน อาธิเช่นรายได้จากระบบสาธารณูปโภค ค่าเช่าโรงงาน และคลังสินค้า

"หลังจากที่การเมืองเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นช่วยให้นักลงทุนจากญี่ปุ่น และจีน รวมถึงนักลงทุนในประเทศเองเริ่มกลับมาลงทุนมากขึ้น แต่นักลงทุนสหรัฐและยุโรปยังไม่กลับมามากนัก เพราะกฎอัยการศึกยังไม่ถูกยกเลิก บางประเทศอาจยังไม่สามารถเข้ามาได้ หลังจากที่นักลงทุนทั้งในและต่างชาติเริ่มมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ลงทุนดีขึ้น แต่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดปัญหาทางการเมืองถือว่ายังไม่กลับมาทั้ง 100% แต่ปีนี้รายได้จากการดำเนินงานอาจใกล้ปีก่อนได้ เพราะรายได้จากระบบสาธารณูปโภค ค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง"นายเผ่าพิทยา กล่าว

นายเผ่าพิทยา กล่าวอีกว่า บริษัทจะมีการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่อีก 7 แห่ง โดยเริ่มลงทุนแห่งแรกในไตรมาส 4/57 ส่วนอีก 6 โรงจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 58 ซึ่ง HEMRAJ จะมีสัดส่วนถือหุ้นราว 25% ในแต่ละโรง คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 2.4 พันล้านบาท โดยแบ่งงบลงทุนไว้ 3 ปี (58-60) ปีละ 800 ล้านบาท

สำหรับสถานการณ์น้ำในประเทศไทยเชื่อว่านิคมอุตสาหกรรมของ HEMRAJ จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนเมื่อเทียบกับปี 54 ถือว่าค่อนข้างน้อยกว่า ขณะที่เหตุการณ์น้ำท่วมในแต่ละจังหวัดที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการระบายน้ำไม่ทันเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ