บริษัทมีแผนจะระดมทุนเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขออนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ทางการกำลังจะเปิดรับรอบใหม่ ขนาดกำลังผลิตโรงละ 5 เมกะวัตต์ ขนาดรวมกันราว 50 เมกะวัตต์ ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งหมดราว 2.5 พันล้านบาท หากได้เงินจากการเสนอขายหุ้น IPO ก็จะใช้เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน ร่วมกับเงินกู้จากสถาบันการเงิน และกระแสเงินสดของบริษัท
"บ้านเราอัตราใช้ไฟฟ้ายังเพิ่มขึ้นทุกวัน การผลิตไฟฟ้าไม่ทันกับความต้องการ โดยเฉพาะทางภาคใต้ เกิดปัญหา overload เป็นประจำ ขณะที่ต้นทุนโซลาร์ฟาร์มลดลงจากเดิมมาก จากกว่า 100 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์ ตอนนี้เหลือเพียง 50 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์ ถึงแม้ว่าราคารับซื้อไฟฟ้าจะลดลงกว่าในอดีต แต่ก็ยังมองว่าคุ้มค่าการลงทุน" นายไรวินท์ กล่าว
นอกจากนั้น บริษัทยังจะขยายงาน โดยเฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้เป็น 70% ของรายได้รวมภายใน 2 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 50% เนื่องจากเป็นงานที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่า 10% และแนวโน้มโครงการด้านพลังงานและสื่อสารในประเทศจะเติบโตเพิ่มขึ้นมาก โดยบริษัทมีความชำนาญในงานวางสายส่งไฟฟ้า ติดตั้งเสาและสถานีไฟฟ้า งานระบบประปา รวมทั้งงานวางสายเคเบิ้ลใยแก้ว ติดตั้งเสาและระบบส่งสัญญาณโทรคมนาคม และงานขุดเจาะวางสายใต้ดิน
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแผนขยายงานด้านธุรกิจบริหารจัดการแรงงานและด้านทรัพยากรบุคคล(Outsource)โดยเฉพาะงานด้านธุรการให้กับหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ราว 50% แม้ว่าในอนาคตอาจจะลดสัดส่วนลงเหลือ 30% เนื่องจากเป็นงานที่มีอัตรากำไรต่ำกว่า 10% และอัตราเติบโตต่อปีค่อนข้างต่ำ แต่บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาขยายประเภทของบริการ Outsource ไปยังธุรกิจโรงแรมที่มีอัตราการจ้างงานค่อนข้างสูง รวมทั้งพนักงานลำเลียงกระเป๋าในสนามบิน
บริษัทเริ่มให้บริการ outsource ประเภทงานจดมิเตอร์ไฟฟ้า และน้ำประปาหน่วยย่อยตามบ้าน จากนั้นได้กระจายไปในหลากหลายประเภท ส่วนใหญ่เป็นงานธุรการ(back office) ไปจนถึงวิศวกร โดยขณะนี้มีพนักงาน outsource ของบริษัทเกือบ 6 พันคน ซึ่งในตลาดมีคู่แข่งไม่มาก โดยรายใหญ่ คือ บริษัทสยามราช และ บริษัท พีพีซี นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจให้เช่ารถยนต์กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย
"ทั้งภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ รวมถึงภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทชั้นนำต่าง ๆ มีแนวโน้มจะจ้าง outsource มากขึ้น เพราะสามารถคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าการจ้างพนักงานโดยตรง แต่การรับงานเอกชนยังมีปัญหาด้านกฎหมายแรงงานที่ต้องรอการตีความประเภทงานจ้างช่วงให้ชัดเจนก่อน" นายไรวินท์ กล่าว
นายไรวินท์ กล่าวว่า ปัจจุบัน Eastern Group มีทุนจดทะเบียน 131 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท ซึ่งเบื้องต้นบริษัทอาจจะแตกพาร์ และเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยคาดว่าจะเสนอขายหุ้นในสัดส่วน 25-30% ของทุนจดทะเบียนภายหลังการเพิ่มทุน โดยขณะนี้มีบริษัทในเครือ 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท อีแมเนจเม้นท์ จำกัด ทำธุรกิจ Outsource, บริษัท ไทย สปีดี้ คาร์ จำกัด ทำธุรกิจให้เช่ารถยนต์ และ บมจ.บูรพาเทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง ทำธุรกิจบริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าผลประกอบการในปี 57 จะมีรายได้ราว 1.2 พันล้านบาท และกำไรสูงขึ้น จากปี 56 ที่มีรายได้ราว 900 ล้านบาท และมีกำไรราว 3 ล้านบาท โดยขณะนี้บริษัทมีงานในมือ(backlog)ทั้งงานโครงสร้างพื้นฐานและ Outsource รวมกันประมาณ 2 พันล้านบาทที่จะทยอยรับรู้รายได้จากปีนี้ไปถึงปี 60