"พันธมิตรอย่างซาอุดิอารัมโก ถือเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งจะช่วยจัดหาด้านน้ำมันดิบป้อนโรงกลั่นขนาด 4 แสนบาร์เรล/วัน ตอบโจทย์ให้กับรัฐบาลเวียดนามเกี่ยวกับความมั่นคงด้านวัตถุดิบในโครงการได้"นายอธิคม กล่าว
นายอธิคม กล่าวว่า ปตท.ได้ยื่นรายงานความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวต่อรัฐบาลเวียดนาม โดยนายเหงียน เติ้น สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนามสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าสรุปรายงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จและส่งเรื่องมาให้พิจารณาภายใน 1 เดือน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของเวียดนามขึ้นอีก 3-4% โดยยังไม่ได้นับรวมโครงการต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นจากโครงการโรงกลั่นและปิโตรเลียมครบวงจร หากโครงการนี้ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเวียดนามจะใช้เวลาพัฒนาราว 6-7 ปีจึงจะสามารถุผลิตเชิงพาณิชย์ได้ โดยผลิตภัณฑ์บางส่วนจะต้องส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ
โครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมีครบวงจรที่เวียดนามจะตั้งอยู่ในบริเวณเขตเศรษฐกิจ Nhon Hoi จังหวัดบินดินห์ ประกอบด้วย โรงกลั่นน้ำมันขนาด 4 แสนบาร์เรล/วัน และปิโตรเคมีกำลังการผลิต 5 ล้านตัน/ปี ใช้เงินลงทุนสำหรับทั้งโครงการราว 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีผู้ร่วมทุน ได้แก่ กลุ่มปตท. 40 % ซาอุดิ อารัมโก 40% และ พันธมิตรเวียดนาม 20%
สำหรับหุ้นที่กลุ่ม ปตท.ถืออยู่ 40%นั้น นายอธิคม กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการจัดสรรหุ้นให้กับบริษัทใดในกลุ่ม ปตท.เบื้องต้นมี บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC)และ บมจ.ไทยออยล์ (TOP)ได้เข้ามาร่วมศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าว แต่ บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล(PTTGC)ยังไม่ได้เข้าร่วมอย่างเต็มตัว เนื่องจากมีการลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์กับเปอตามีน่าในอินโดนีเซีย
หลังจากนี้ ปตท.ร่วมกับพันธมิตรร่วมทุนจะเข้าไปดูรายละเอียดด้านการตลาดทั้งน้ำมันและปิโตรเคมี ซึ่งอาจจะมีการปรับปรุงรายละเอียดโครงสร้างการผลิตอีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดในอนาคต รวมทั้งเจรจาการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนาม