จุดเด่นของกองทุนฯ นี้ อยู่ที่แนวทางการคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดความเสี่ยงจากการลงทุน โดยกองทุนฯ นี้จะใช้กลยุทธ์การเลือกหุ้นที่สำคัญ ได้แก่ การเลือกลงทุนหุ้น Low beta ซึ่งมีความสัมพันธ์กับทิศทางตลาดหุ้นที่ไม่สูงมากนัก และมักจะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาด ขณะที่มีความผันผวนกับการเคลื่อนไหวของตลาดค่อนข้างต่ำ ทำให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหลังการปรับด้วยความเสี่ยงอยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นที่มีค่า Beta สูงๆ ทั้งการลงทุนในหุ้นไทยและหรือหุ้นในแต่ละภูมิภาค รวมถึงหุ้นทั่วโลก ควบคู่ไปกับการคัดเลือกหุ้นผ่าน 4 ปัจจัยหลักอื่นๆ ได้แก่ ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) มูลค่าหุ้น (Valuation) โมเมนตัม (Momentum) และความเสี่ยง (Risk) เพื่อหาหุ้นที่น่าสนใจในการลงทุนและคาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพ
เกณฑ์การคัดเลือกหุ้นดังกล่าวมีตัวอย่างหุ้นที่เข้าข่าย เช่น หุ้น First Gen Corp. (FGEN) ของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหุ้นประเภทโรงไฟฟ้า เนื่องจากบริษัทยังคงมีศักยภาพในการขยายความสามารถในการผลิตได้อีกมาก และที่ผ่านมาราคาหุ้นไม่ได้ปรับตัวอย่างผันผวนมากนัก รวมทั้งระดับราคาหุ้นต่อกำไรในปัจจุบันยังค่อนข้างต่ำ และยังคงมีโมเมนตัมในการเติบโต และหุ้น Singapore Post Ltd. (SPOST) ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหุ้นประเภท Transportation ที่มีแนวโน้มเติบโตจากการขยายสาขาการจัดส่งพัสดุและ E-commerce ในกลุ่มอาเซียนได้อย่างรวดเร็ว มีโมเมนตัมการปรับเพิ่มของราคาหุ้นต่อกำไรได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งการลงทุนในหุ้นดีๆเหล่านี้ยังมีช่องทางจำกัดสำหรับผู้ลงทุนในประเทศไทย
นายวิน กล่าวว่า การลงทุนในหุ้นกลุ่มอาเซียนเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงระยะถัดจากนี้ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการในปีหน้าหลังจากที่เริ่มทยอยเปิดเสรีการค้าการลงทุนในบางกลุ่มอุตสาหกรรมกันไปบ้างแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านการค้าและการลงทุน สร้างอำนาจการต่อรองและขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจทั้งในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือและการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี โดยเริ่มเข้าสู่การรวมกลุ่ม AEC ในระยะแรก 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย เนื่องจากมีความพร้อมมากที่สุด ขณะที่ กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม จะเข้าสู่การรวมกลุ่ม AEC ในลำดับถัดไป
ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจอาเซียนเติบโตได้ต่อเนื่องในระดับค่อนข้างดี โดยล่าสุดปี 2013 จีดีพีของกลุ่มอาเซียนมีมูลค่ากว่า 2,412 พันล้านดอลลาร์ฯ นำโดยอินโดนีเซียและไทย ที่มีมูลค่าจีดีพีกว่า 867 และ 401 พันล้านดอลลาร์ฯ รวมทั้ง IMF คาดว่าปี 2014 นี้ จีดีพีของกลุ่มอาเซียนจะมีมูลค่าการเติบโตที่ 5.9% จากที่ขยายตัว 5.2% ในปี 2013 เนื่องจากการส่งออกที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก และคาดว่าปีนี้การส่งออกน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 9.4% จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 7.3% ขณะที่ ในด้านการบริภาคภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมาอาจจะเห็นการชะลอตัวลงไปบ้างเนื่องจากบางประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องเผชิญกับปัญหาการเมืองในประเทศ เช่น ไทยและอินโดนีเซีย
แต่อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาการเมืองในประเทศที่หาข้อสรุปได้อย่างชัดเจนและแนวโน้มรายได้ต่อหัวของประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก็น่าจะสนับสนุนให้การบริโภคภายในประเทศพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของอินโดนีเซียและไทยซึ่งรวมกันมีสัดส่วนมากถึง 50% ของกลุ่มอาเซียนทั้งหมด
จากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนดังกล่าว ทำให้มองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียนปัจจุบันเป็นที่น่าสนใจ และยังมีโอกาสขยายขนาดมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นได้อีกมากในอนาคตเนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศที่คลี่คลาย รวมทั้งมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการในแต่ละประเทศจะผลักดันให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเข้าสู่การลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียนมากขึ้นและเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้การลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียนยังมีโอกาสเติบโตต่อได้ในระยะถัดไป
ดังนั้น การลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียนจึงเป็นโอกาสทางเลือกของนักลงทุนในการกระจายการลงทุนไปยังบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ในประเทศกลุ่มอาเซียนด้วยกันจากการอาศัยความแตกต่างและความโดดเด่นหลักทรัพย์ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่พอร์ตการลงทุน เช่น กลุ่มพลังงาน ธนาคารพาณิชย์ ค้าปลีกในตลาดหุ้นไทย / หุ้นกลุ่มเหมืองแร่และโลหะในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย รวมทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โครงสร้างพื้นฐานและ Entertainment ในมาเลเซีย เป็นต้น