PTTEP คาดรายได้ H2/57 สูงกว่า H1/57 จากแหล่งซอติก้า-มอนทารา ทั้งปีโต 9-10%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 16, 2014 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) คาดว่ารายได้ของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตมากกว่าครึ่งปีแรกที่มีรายได้ 1.28 แสนล้านบาท เนื่องจากปริมาณการผลิตช่วงครึ่งปีหลังเติบโตมากกว่า 10% มาที่ 3.3 แสนบาร์เรล/วัน โดยจะมีปริมาณการผลิตเพิ่มเข้ามาจากแหล่งซอติด้าและแหล่งมอนทารา ทำให้ปริมาณการผลิตเฉลี่ยทั้งปีนี้ 3.17-3.18 แสนบาร์เรล/วัน เติบโต 9-10% จากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปลายไตรมาส 3/57 บริษัทอาจจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงในช่วงปลายไตรมาสบ้าง แต่คงไม่กระทบกับรายได้รวม

นางสาวเพ็ญจันทร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน สถานะการเงินของบริษัทแข็งแกร่ง มี่อัตราหนี้สินต่อทุน เพียง 0.3 เท่า โดยหนี้สินมีอยู่ 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 75% และอีก 25% เป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว สอดคล้องกับสัดส่วนรายได้ที่มาจากยอดขายน้ำมัน 25-30% ซึ่งมีราคาขึ้นลงตามสภาพตลาด แต่ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นยอดขายก๊าซที่มีราคาค่อนข้างทรงตัวในขณะนี้

นอกจากนี้ บริษัทมีเงินสดในมือจำนวน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นระดับสูงสุดที่เคยมีมา และมีความสามารถกู้เพิ่มได้อีก 2-3 พันล้านเหรียญ เพื่อเตรียมความพร้อมในโอกาสที่จะเข้าลงทุนโครงการที่มีศักยภาพ

"เราเตรียมความพร้อมพอสมควร อย่างปีที่แล้วลงทุนใน Hess สิ่งเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราต้องพร้อมเข้าลงทุน"นางสาวเพ็ญจันทร์ กล่าว

สำหรับแผนลงทุนของบริษัทในปีนี้ยังคงไว้ที่กว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ๋เป็นการลงทุนการผลิตแหล่งปัจจุบันเพื่อรักษาระดับการผลิตให้ได้ตามแผนงาน ขณะเดียวกันหากภาครัฐเปิดประมูลแหล่งสัมปทานรอบใหม่ รวมทั้งการต่ออายุแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 65 คือ แหล่งบงกช และแหล่งยูโนแคล 1, 2, 3 และ 5 ทางบริษัทก็ต้องเตรียมเงินลงทุนเพิ่มเติมหากมีความชัดเจนภาครัฐ

นางสาวเพ็ญจันทร์ กล่าวว่า บริษัทได้รับใบอนญาตประกอบธุรกิจศูนย์บริหารการเงิน(Treasury Center) จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เมื่อ 15 ส.ค.57 ถือเป็นรายแรกของประเทศไทย ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการเงินสกุลต่างประเทศของศูนย์บริหารเงินและบริษัทในกลุ่มในลักษณะของการรวมศูนย์อย่างมีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก ธปท.เป็นรายครั้ง รวมทั้งประหยัดเวลาและลดขั้นตอนในการทำงานจากการนำระบบการบริหารจัดการเงินสดอัตโนมัติ (Automated Cash Pooling) ของธนาคารเข้ามาใช้

เนื่องจากบริษัทมีบริษัทย่อยตามการดำเนินโครงการที่ปัจจุบันมีอยู่ 43 โครงการ แต่ละโครงการมีแผนการใช้เงินแตกต่างกันทั้งสกุลเงินบาทและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ บางโครงการก็มีกระแสเงินสดเข้ามา บางโครงการก็มีผลขาดทุน แต่เมื่อนำมารวมเป็นระบบการบริหารจัดการเงินสดอัตโนมัติจะทำให้บริษัทบริหารเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม(Transaction Cost) และลดต้นทุนการกู้ยืมเงินระหว่างบริษัทในกลุ่ม คาดว่าจะช่วยประหยัดเงินได้ปีละ 60 ล้านบาท โดยบริษัทได้นำระบบ Automated Cash Pooling เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน มิ.ย. 57 คาดว่าจะช่วยประหยัดได้ประมาณ 30 ล้านบาทในปีนี้

นางสาวเพ็ญจันทร์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะนำบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100% จำนวน 20 บริษัทที่นำเข้าระบบ Automated Cash Pooling ซึ่งเสมือนบริษัททำกิจกรรมเอง และปีต่อไปจะขยายบริษัทย่อยอื่นเข้า ระบบ Automated Cash Pooling และในปลายปี 59 ดำเนินการ Share Service ให้บริษัทในกลุ่ม PTTEP ที่จะบริหารใบ Invoice รวมกัน นอกจากนี้ในปี 63 บริษัทมีแผนงานเป็น Inhouse Banking ลักษณะคล้ายเป็นธนาคารในกลุ่มบริษัท ซึ่งในปีนั้นจะมีปริมาณการผลิตสูงเท่าตัวซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 6 แสนบาร์เรล/วัน

ทั้งนั้ บริษัทมีเงินหมุนเวียนแต่ละวันราว 5 พันล้านบาท และ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ/วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ