ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่า (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. ในฐานะประธานคณะกรรมการตามมาตรา 13 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ35 ในการคัดเลือกเอกชนดำเนินการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กิโลเมตร กล่าวว่า ขณะนี้กก.มาตรา 13 ยังไม่สามารถประชุมได้ เนื่องจากต้องรอผลการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ปรึกษาโครงการก่อน ในเรื่องข้อดี ข้อเสีย ระหว่างการประกวดราคากับการเจรจาตรงกับบมจ.รถไฟฟ้า (BMCL) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ที่เป็นเส้นทางปัจจุบัน
ทั้งนี้ หลักในการพิจารณา คือ ต้องเดินรถต่อเนื่องตามมติบอร์ดรฟม. และยึดตามพ.ร.บ. ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการประกวดราคาและการเจรจาตรง โดยคาดสรุปผลศึกษาได้ใน 1-2 สัปดาห์นี้จากนั้นจะเรียกประชุมกก.มาตรา 13 ได้
โดยประเด็นที่ กก.มาตรา 13 จะพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างวิธีประกวดราคากับการเจรจาตรง จะเป็นเรื่องความปลอดภัย ความสะดวกของผู้โดยสาร ค่าใช้จ่าย ระยะเวลา ข้อกฎหมายและความเป็นธรรมหากเปิดประกวดราคา ภายใต้เงื่อนไขการเดินรถต่อเนื่องตามความเห็นบอร์ดรฟม. ซึ่งการประกวดราคาอาจจะถูกมองว่า BMCL ได้เปรียบรายอื่นกรณีที่กำหนดให้ต้องเดินรถต่อเนื่องด้วย นายพีระยุทธ กล่าวว่า เมื่อมีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอ กก.มาตรา 13 ที่มีผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญ ทั้งอัยการ กฤษฎีกา กระทรวงการคลัง ฯลฯ จะพิจารณาในทุกแง่มุมได้อย่างรอบคอบ ซึ่งต้องเร่งสรุปเนื่องจากตามกรอบเวลางานโยธาจะก่อสร้างแล้วเสร็จในกลางปี 2560 และเปิดเดินรถในเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งขณะนี้ถือว่าล่าช้ามาจากเดิมที่จะเปิดในปี 2560 ดังนั้น การคัดเลือกผู้เดินรถจะต้องแล้วเสร็จในต้นปี 2558 เพื่อให้เวลาในการจัดหาระบบประมาณ 36-40 เดือน แต่หากเลือกวิธีการประกวดราคานั้นจะไม่ทันตามกรอบเวลานี้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม หากสรุปว่าจะประมูลก็เดินหน้าไปได้เลย เพราะเป็นมติเกิมของกก.มาตรา 13 แต่ถ้า เห็นว่าควรเจรจาตรงกับ BMCL จะต้องเสนอไปที่กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หากไม่เห็นด้วยก็ต้องกลับมาใช้วิธีประมูล แต่หากทั้งสองหน่วยเห็นด้วยก็เสนอครม.ทบทวนมติเดิม ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะผลักดันให้รวดเร็วได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยืนยันการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา 26,569 ล้านบาทซึ่งกำหนดให้ผู้ที่ซื้อซองเอกสารทั้ง 31 รายยื่นข้อเสนอประกวดราคาในวันที่ 30 กันยายนนี้ แม้ว่าจะมีเอกชนร้องเรียน ในประเด็นเงื่อนไข TOR โดยยืนยันว่าจะไม่มีการปรับปรุงเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) หรือขยายเวลาใดๆ
อีกทั้ง ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าฯ เป็นรองผู้ว่าฯรฟม. และนายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง ผู้ช่วยผู้ว่าฯ เป็นรองผู้ว่าฯ แทนผู้เกษียณอายุ