ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงความเสี่ยงทั้งในด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา ตลอดจนความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย
ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยเอาไว้ได้ โดยระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนการเติบโตของธุรกิจเอทานอล และรายได้ที่คงที่จากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยรองรับการดำเนินงานในช่วงวงจรขาลงของธุรกิจน้ำตาลได้
KSL เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ณ เดือนเมษายน 2557 ตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนรวม 70.0% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศไทยโดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม เท่ากับ 103,666 ตันอ้อยต่อวัน ในช่วงปีการผลิต 2556/2557 ทั้งนี้ กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถหีบอ้อยได้ 8.5 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2556/2557 และผลิตน้ำตาลได้ 906,122 ตัน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 8.0% ในปีการผลิต 2556/2557 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 20.3% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 15.5% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 9.3%
ตั้งแต่ปี 2549 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย ได้แก่ ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและเอทานอล ในช่วงปี 2556 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) คิดเป็นสัดส่วน 22% ของรายได้รวม
นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยแล้ว กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นยังดำเนินธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชาด้วย โดยโรงงานน้ำตาลในประเทศดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปีการผลิต 2553 หลังจากที่บริษัทประสบกับปัญหาผลผลิตอ้อยต่อไร่ตกต่ำจากโรคระบาดในอ้อยเป็นระยะเวลาหลายปี ในช่วงปีการผลิต 2556/2557 ผลผลิตอ้อยในประเทศลาวและกัมพูชาเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 2.9 ตันอ้อยต่อไร่ในปีการผลิต 2555/2556 มาอยู่ที่ 7.9 ตันอ้อยต่อไร่
อย่างไรก็ตาม ราคาส่งออกน้ำตาลทรายดิบไปยังกลุ่มประเทศยุโรปลดลง 35% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เนื่องจากปัญหาผลผลิตล้นตลาดในกลุ่มประเทศยุโรป ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในประเทศลาวและกัมพูชายังคงขาดทุนที่ 97 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีรายได้รวมลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปี 2556 อยู่ที่ระดับ 12,200 ล้านบาท การลดลงของรายได้รวม มีสาเหตุหลักมาจากปริมาณขายน้ำตาลลดลง 23% เหลือ 460,000 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เนื่องจากลูกค้าชะลอการส่งมอบน้ำตาลออกไปช่วงปลายปี 2557 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 24.1% จาก 14.7%
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ลดลงจากผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมในการปลูกอ้อย รวมถึงการที่บริษัทไม่มีปัญหาเรื่องเครื่องจักรในช่วงการผลิต อัตรากำไรของบริษัทที่ดียังมาจากอัตรากำไรของกลุ่มเอทานอลและพลังงานที่สูงด้วย การที่บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น ส่งผลทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นได้ แม้ว่ารายได้รวมของบริษัทจะลดลง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 3,158 ล้านบาท จาก 2,998 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 5.11 เท่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557
อัตราการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเป็นผลของฤดูกาล โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 64.15% ณ กรกฎาคม 2557 อัตราการก่อหนี้ของบริษัทคาดว่าจะลดลงตอนสิ้นปี 2557 เมื่อมีการส่งมอบน้ำตาล ในช่วงปีการเงิน 2557-2559 บริษัทวางงบลงทุนในโครงการต่าง ๆ รวมจำนวน 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี ในกรณีที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) เพื่อย้ายโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดชลบุรีไปยังจังหวัดสระแก้ว
เมื่อพิจารณาจากประมาณการ EBITDA ของบริษัทที่ประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะต่ำกว่าระดับ 60% ได้ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า แม้ว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลจะเผชิญภาวะตกต่ำตามวัฏจักรคาดว่าราคาน้ำตาลจะยังคงอ่อนแอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากยังมีปริมาณน้ำตาลคงเหลือจำนวนมากทั่วโลก The United States Department of Agriculture หรือ USDA ได้คาดการณ์ว่าในฤดูการผลิตปี 2556/2557 จะยังคงมีอุปทานน้ำตาลส่วนเกินทั่วโลก ซึ่งเป็นปีที่ 4 ที่ติดต่อกันที่เกิดภาวะน้ำตาลเกินดุล โดย USDA คาดว่าจะเกินดุลจำนวน 1.5 ล้านตัน
สำหรับในฤดูการผลิต 2557/2558 USDA คาดการณ์ว่าทั่วโลกจะผลิตน้ำตาลใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่ 175.6 ล้านตัน โดยคาดว่าผลผลิตน้ำตาลที่ลดลงในประเทศบราซิล จีน ปากีสถาน และไทย จะสุทธิกับปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในประเทศอินเดีย กลุ่มประเทศในสหราชอาณาจักรโซเวียตเดิม และกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป ขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำตาลคาดว่าจะเติบโตจากประเทศจีนและอินเดีย หากเป็นไปตามนี้จะทำให้ปี 2557/2558 เป็นปีแรกในรอบ 5 ปีที่เกิดภาวะน้ำตาลขาดดุล โดย USDA คาดว่าน้ำตาลจะขาดดุลจำนวน 1.1 ล้านตันในปี 2557/2558 อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำตาลคงเหลือที่มีอยู่จำนวน 45.5 ล้านตันตามประมาณการของ USDA จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำตาลในอนาคตอันใกล้นี้