ดังนั้น บริษัทฯ จึงคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อหุ้นสามัญประมาณกลางเดือน ต.ค.และคาดว่าพร้อมเข้าเทรดประมาณปลายเดือน ต.ค.พร้อมแสดงความมั่นใจถึงศักยภาพการเติบโตและขยายธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยและภูมิภาค
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA กล่าวว่า ตลอด 46 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยความแตกต่างของโครงสร้างธุรกิจที่ให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจการบินครบวงจร ทั้งสายการบินบางกอกแอร์เวย์สที่เติบโตจากสายการบินขนาดเล็กสู่การเป็นสายการบินที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยล่าสุดได้รับ 2 รางวัล World’s Best Regional Airline และ Best Regional Airline in Asia 2014 จาก SKYTRAX
นอกจากธุรกิจสายการบินแล้ว บริษัทฯ ยังเป็นเจ้าของและดำเนินการบริหารท่าอากาศยานถึง 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานนานาชาติสมุย ท่าอากาศยานตราด และท่าอากาศยานสุโขทัย และให้บริการทางการบินประเภทอื่นๆ กับสายการบินชั้นนำระดับโลก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ผ่านบริษัท Bangkok Air Catering (BAC) ที่ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารเพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารในเที่ยวบิน บริษัท Worldwide Flight Services Bangkok Air Ground Handling (BFS Ground) ที่ให้บริการภาคพื้น และให้บริการในลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น และ บริษัท WFS-PG Cargo (BFS Cargo) ซึ่งให้บริการคลังสินค้าระหว่างประเทศ
อีกทั้งยังมีรายได้อื่นๆ ซึ่งรวมถึงเงินปันผลจากการลงทุนในหุ้นสามัญของ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ(BGH) คิดเป็นประมาณร้อยละ 7.83 ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้ว ดังนั้น จะเห็นได้ว่าโครงสร้างทางธุรกิจที่หลากหลายและครอบคลุมของบริษัทฯ ทำให้รายได้ของบริษัทฯ สามารถเติบโตตามอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาคด้วย
สำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและสนับสนุนการเติบโตในอนาคต บริษัทมีแผนจะเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 520 ล้านหุ้น ซึ่งคิดเป็นไม่เกิน 24.8% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้
“การทำ IPO ครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตในอนาคตของบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์ของการระดมทุนครั้งนี้ คือ การขยายฝูงบิน รวมทั้งการปรับเปลี่ยน และ/หรือทดแทนฝูงบินเดิม การจัดซื้อเครื่องยนต์ อะไหล่ และอุปกรณ์สำรองสำหรับฝูงบินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรฐานของอุตสาหกรรม การก่อสร้างโรงซ่อมอากาศยานที่สนามบินสุวรรณภูมิ การขยายและปรับปรุงสนามบินสมุย และเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ" นายพุฒิพงศ์ กล่าว