สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์(15 – 19 กันยายน 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 346,523 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 69,305 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 9% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 68% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 237,191 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย(ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง(Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 44,296 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน(Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 7,343 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A(อายุ 4.7 ปี) LB21DA(อายุ 7.3 ปี) และ LB155A(อายุ 0.7 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 14,267 ล้านบาท 6,480 ล้านบาท และ 5,950 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14D18B(อายุ 91 วัน) CB14O30A(อายุ 41 วัน) และ CB14D11B(อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 28,114 ล้านบาท 20,013 ล้านบาท และ 9,848 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) รุ่น BCP174A(A-) มูลค่าการซื้อขาย 376 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท บ้านปู จำกัด(มหาชน) รุ่น BANPU225A(AA-) มูลค่าการซื้อขาย 367 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) รุ่น CPALL248B(A+) มูลค่าการซื้อขาย 264 ล้านบาท
ราคาของพันธบัตรช่วงอายุ 3 – 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรือผู้ซื้อจะได้ผลตอบแทน(Yield) ลดลง ประมาณ 0.01% - 0.02% ทั้งนี้ แม้เงินทุนต่างชาติจะไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้วพบว่าเป็นการไหลออกจากตราสารหนี้ระยะสั้น แต่ยังคงมีแรงซื้อในตราสารหนี้ระยะยาวตามความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้น ภายหลังแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ทางด้านของผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) เมื่อวันที่ 17 ก.ย. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ต่อปี โดยประเมินว่านโยบายการเงินแบบผ่อนปรนยังจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในระยะเริ่มแรก ขณะที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(FOMC) เมื่อวันที่ 16 – 17 ก.ย. มีมติให้ลดขนาดของมาตรการ QE ลงอีกเดือนละ 10,000 ล้านเหรียญ USD จาก 25,000 เหลือ 15,000 ล้านเหรียญ USD/เดือน และคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ 0 – 0.25% โดยถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(Fed) ส่งสัญญาณว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับใกล้ 0% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง และอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าแต่ยังไม่ได้ระบุช่วงเวลาที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลการประชุมจากทั้ง 2 ธนาคารกลางล้วนเป็นไปตามที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ และยังไม่มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับกำหนดเวลาของการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต ปัจจัยเหล่านี้จึงไม่ได้ส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามากนัก
นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท(ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 11,509 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น(อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 13,129 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1,620 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดขายสุทธิ 135 ล้านบาท