นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ริเริ่มโครงการ “สร้างผู้สอบบัญชีตลาดทุน" เพื่อรองรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนมากขึ้น แก้ปัญหาจำนวนผู้สอบบัญชีไม่เพียงพอและส่งเสริมให้ผู้สอบบัญชีปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานบัญชีสากลและธุรกรรมที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จะแบ่งผู้สอบบัญชีออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) ผู้สอบบัญชีบริษัททั่วไปในตลาดทุน และ (2) ผู้สอบบัญชีบริษัทในกระดานซื้อขายหุ้นของธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะเปิดให้ผู้ลงทุนเฉพาะประเภท Accredited Investors (AIs) ทำการซื้อขายได้ในอนาคต ซึ่งอาจมีการผ่อนปรนคุณสมบัติบางประการ เช่น ประสบการณ์งานสอบบัญชี เวลาการเซ็นรับรองงบการเงินในอดีต และขนาดของกิจการที่เคยตรวจสอบ เป็นต้น
แต่ในส่วนของคุณภาพของงานสอบบัญชี ก.ล.ต. ยังคงกำหนดให้ผู้สอบบัญชีทั้งสองกลุ่มต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่มีระบบการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีและปฏิบัติตามมาตรฐานการสอบบัญชีอย่างเคร่งครัด
นายประสัณห์ เชื้อพานิช นายกสภาวิชาชีพบัญชีฯ กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจของสภาวิชาชีพบัญชีฯ คือ การพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีไทยสู่ระดับสากล พร้อมรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานทางวิชาชีพสากล ทั้งมาตรฐานการรายงานทางการเงิน มาตรฐานการสอบบัญชี รวมถึงด้านจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อพิจารณาใช้เป็นมาตรฐานในประเทศไทย และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศไทยตลอดมา ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับในฐานะสมาชิกของ International Federation of Accountants (IFAC) และมาตรฐานการสอบบัญชีของไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
เลขาธิการ ก.ล.ต. และนายกสภาวิชาชีพบัญชีฯ ร่วมกันกล่าวถึงโครงการเพื่อพัฒนาผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชีตลาดทุนให้มีคุณภาพและปริมาณที่สามารถรองรับการขยายตัวของกิจการในตลาดทุน โดยสภาวิชาชีพบัญชีฯ จะคัดเลือกผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชีนอกตลาดทุนที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการอบรม ตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำ และพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการควบคุมคุณภาพ (TSQC1) โดยคาดว่าผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชีจะมีความพร้อมในระยะเวลา 12-18 เดือน เพื่อให้บริการสอบบัญชีแก่บริษัทในตลาดทุน ในจำนวนนี้อาจมีบางรายที่จะเริ่มต้นเป็นผู้สอบบัญชีบริษัทในกระดานเอสเอ็มอีก่อนที่จะยกระดับสู่การเป็นผู้สอบบัญชีบริษัททั่วไปในตลาดทุน ต่อไป
พร้อมกันนี้ทั้งสองหน่วยงานยังสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของสำนักงานสอบบัญชี เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและมีจำนวนผู้สอบบัญชีที่มาขอความเห็นชอบเพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้ผู้สอบบัญชีเข้าร่วมทำงานกับสำนักงานสอบบัญชีที่ตรวจสอบบริษัทในตลาดทุน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและทำให้สำนักงานสอบบัญชีมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ก.ล.ต. และสภาวิชาชีพบัญชีฯ ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารสูงสุดทางด้านการเงิน (ซีเอฟโอ) ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้ซีเอฟโอซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งและเป็นจุดเริ่มต้นในการนำเสนอข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้องและมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบและเห็นความสำคัญของการจัดทำงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนให้ถูกต้องต่อไป โดยคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้
นายประสัณฑ์ กล่าวเสริมว่า “โครงการ “CFO focus on financial reporting" สำหรับ ซีเอฟโอของกิจการในตลาดทุนจะเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ซีเอฟโอสามารถติดตามพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเรื่องรายงานทางการเงิน ซึ่งอาจส่งผลต่อฐานะการเงิน ผลประกอบการของกิจการ และการเปิดเผยข้อมูลในรายงานทางการเงิน รายงานทางการเงินที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กิจการ และการลดความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลทางการเงินที่ผิดพลาด สภาวิชาชีพบัญชีฯ เห็นความสำคัญในเรื่องนี้และจะผลักดันให้การเข้าร่วมในโครงการนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยของการเพิ่มคะแนนด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) ให้กับกิจการในตลาดทุนด้วย"
ด้านนายวรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า "ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้เสริมสร้างคุณภาพงานสอบบัญชีบริษัทในตลาดทุนให้ได้มาตรฐาน โปร่งใส และน่าเชื่อถือ ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล จนได้รับการยอมรับในเวทีสากลอย่างต่อเนื่อง โดย ก.ล.ต. ได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิก International Forum of Independent Audit Regulator (IFIAR) ตั้งแต่ปี 2553 ด้านการบัญชีและการสอบบัญชีของประเทศไทยได้รับการประเมินว่ามีคุณภาพดีเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย โดย Asian Corporate Governance Association (ACGA) ในปี 2555 และปี 2556 คณะกรรมาธิการยุโรปยอมรับมาตรฐานการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีในตลาดทุนไทย และอนุญาตให้ผู้สอบบัญชีของไทยตรวจสอบและรับรองงบการเงินของบริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ในยุโรปได้ โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแลผู้สอบบัญชีของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป"