ทั้งนี้ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ ได้ยื่นขอเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 169,182,500 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ซึ่งบริษัทจะมีทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วจำนวน 676,750,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
บริษัทเป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำ ส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย เช่น กากอ้อย และกากหม้อกรองไปต่อยอดทางธุรกิจอย่างครบวงจรผ่านการดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อย 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด บริษัท ปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด บริษัท บุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์ จำกัด ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าแห่งใหม่
"หลังจากที่ ก.ล.ต.อนุญาตให้บริษัทเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและแบบแสดงรายการข้อมูลมีผลใช้บังคับแล้ว บล.เคที ซึมิโก้ และบริษัทฯ จะร่วมกันกำหนดวันเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป ก่อนจะนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาส 4 ของปีนี้" นายชัยภัทร กล่าว
ด้านนายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ กล่าวว่า บริษัทถือเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากว่า 50 ปี โดยดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล ไปต่อยอดทางธุรกิจอย่างครบวงจร เช่น นำกากอ้อยไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าชีวมวล ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีภายใต้แบรนด์ ปุ๋ยตรากุญแจ ภายใต้นโยบายมุ่งพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจน้ำตาลทรายเพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุด
บริษัทให้ความสำคัญผลผลิตอ้อยที่เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำตาลทราย โดยมุ่งเน้นส่งเสริมพัฒนาให้ความรู้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในการเพาะปลูก การคัดเลือกพันธุ์อ้อยและปุ๋ยที่เหมาะสมต่อพื้นที่ ตลอดจนนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการจัดการแปลงอ้อย ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 105 กิโลกรัม เป็น 118 กิโลกรัม นับเป็นผลผลิตอันดับต้นๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทย
ทั้งนี้ ในฤดูการผลิตปี 56/57 มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบ 1.77 ล้านตันอ้อย เพื่อผลิตเป็นน้ำตาลทรายส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ 208,800 ตัน รวมถึงนำกากอ้อยที่ถือเป็นผลผลิตพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทรายไปเป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นจำนวน 8 เมกะวัตต์ โดยในฤดูการผลิตปี 2557/58 นี้ โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์จะมีความสามารถรองรับผลผลิตเข้าหีบได้เป็น 20,000 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณอ้อย 2 ล้านตันเศษ และยังมีการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจากกากอ้อยแห่งที่ 2 เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 8 เมกะวัตต์ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บุรีรัมย์ เพาว์เวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558
ส่วนกากหม้อกรองที่เกิดจากผลพลอยได้กระบวนการผลิตน้ำตาลทราย ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพเหมาะสมต่อการเพาะปลูกอ้อย โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 30,000 ตันต่อปี ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด อีกด้วย
"เราถือเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทรายในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยประสบการณ์การดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายในภูมิภาคนี้มากว่า 50 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรามุ่งเน้นการพัฒนาสายการผลิตต่างๆ ให้มีความแข็งแกร่งอย่างครบวงจร โดยเฉพาะปรัชญาการทำงานของเราที่เชื่อว่า ‘น้ำตาลสร้างในไร่’ จึงเน้นส่งเสริมพัฒนาให้ความรู้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในการเพาะปลูก ตลอดจนการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการจัดการแปลงอ้อยเพื่อให้ได้อ้อยที่มีคุณภาพเพื่อนำไปผลิตน้ำตาลทราย ซึ่งช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและการสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจของเราและชาวไร่อ้อยเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ สิ่งที่น่าภูมิใจอีกประการก็คือ เราเป็นหุ้นตัวแรกของจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย" นายอนันต์ กล่าว