(เพิ่มเติม) "บางกอกแอร์เวย์" กำหนดช่วงราคา IPO 23-27 บ.ขาย 14-17 ต.ค. เทรด 3 พ.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 6, 2014 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้จัดใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ(BA)เปิดเผยว่า บริษัทกำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) เบื้องต้นที่ 23-27 บาท/หุ้น ซึ่งจะเปิดให้จองหุ้นระหว่างวันที่ 14 ต.ค.จนถึง 15.30 น.ของวันที่ 17 ต.ค.57 โดยผู้จองซื้อรายย่อยจะต้องชำระเงินค่าจองซื้อที่ราคา 27 บาท/หุ้น และบริษัทคาดว่าจะประกาศราคาเสนอขายได้ในวันที่ 17 ต.ค.57 จากนั้นจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 3 พ.ย.57 ใช้ชื่อย่อว่า "BA"

สำหรับการนำเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้คาดว่าจะระดมทุนราว 11,960-14,040 ล้านบาท นับเป็นการทำ IPO ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 57 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งบริษัทจะนำเงินไปใช้ขยายฝูงบิน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนและ/หรือทดแทนฝูงบินเดิม จัดซื้อเครื่องยนต์ อะไหล่ และอุปกรณ์สำรองสำหรับฝูงบินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรฐานของอุตสาหกรรม สร้างโรงซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินสุวรรณภูมิ การปรับปรุงสนามบินสมุย และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

นายพิเชษฐ์ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน รวมทั้งผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นหลักทรัพย์ของ BA กล่าวว่า การจัดสรรหุ้น IPO ของ BA จำนวน 730 ล้านหุ้น จะมาจากหุ้นสามัญเพิ่มทุน 520 ล้านหุ้น และจากผู้ถือหุ้นเดิม 210 ล้านหุ้น โดยในส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมนั้น นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ จะขายหุ้นให้กับธนาคารกรุงเทพ(BBL)จำนวน 105 ล้านหุ้น ซึ่งจะทำรายการบิ๊กล็อตในวันแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ในราคาเดียวกับที่เสนอขาย IPO

ส่วนที่เหลืออีก 105 ล้านหุ้นจะไปรวมกับหุ้นสามัญเพิ่มทุน 520 เป็น 625 ล้านหุ้น ซึ่งจะแบ่งขายให้กับนักลงทุน 3 กลุ่มเท่าๆ กัน ได้แก่ รายย่อย สถาบันในประเทศ และสถาบันต่างประเทศ หรือกลุ่มละราว 200 ล้านหุ้น

ทั้งนี้ หลังการเข้าตลาดหลักทรัพย์สัดส่วนการถือหุ้นของครอบครัวปราสาททองโอสถจะปรับลดลงเหลือ 62% จากเดิมอยู่ที่กว่า 90% และจะมี Free Float ประมาณ 30%

นายพรต เสตสุวรรณ รองผู้อำนวยการใหญ่สายการตลาด BA เปิดเผยว่า บริษัทจะนำเงินจากการขายหุ้น IPO ไปเป็นค่ามัดจำซื้อเครื่องบิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมอะไหล่เครื่องบิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนั้น จะสร้างโรงซ่อมเครื่องบินประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะเพิ่มศักยภาพสนามบินสมุย 30 ล้านเหรียญสหรัฐ

บริษัทตั้งเป้าหมายในปี 61 จะเพิ่มจำนวนเครื่องบินเป็น 43 ลำ จากปัจจุบันมีอยู่ 25 ลำ ส่วนหนึ่งจะนำไปทดแทนเครื่องบินเก่า ซึ่งมีการสั่งซื้อเครื่องบิน ATR-600 ไปแล้ว 9 ลำ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจากับทางแอร์บัสไว้บ้างแล้ว โดยการเพิ่มจำนวนเครื่องบินน่าจะทำให้จำนวนที่นั่ง (Capacity) และจำนวนผู้โดยสารเติบโตเฉลี่ยปีละ 19-20% ภายในปี 61 ขณะที่รายได้ของบริษัทจะเติบโตไปในทิศทางเดียวกับจำนวนที่นั่ง

สำหรับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีจำนวนผู้โดยสารและรายได้เติบโตเฉลี่ย 17-19% ต่อปี โดยปี 56 มีจำนวนผู้โดยสาร 4.2 ล้านคน และ 6 เดือนแรกของปี 57 มีจำนวนผู้โดยสาร 2.4 ล้านคน ซึ่งในเดือน ต.ค.57 บริษัทจะเปิดเส้นทางบินใหม่ 4 เส้นทาง ได้แก่ เชียงใหม่-ภูเก็ต เชียงใหม่-อุดรธานี เชียงใหม่-มาเก๊า และ เชียงใหม่-มัณฑะเลย์

ขณะที่การเพิ่มศักยภาพสนามบินสมุยจะมีการเพิ่มความสามารถในการรองรับเที่ยวบินขาเข้าและขาออกจาก 36 เที่ยว/วัน เป็น 50 เที่ยว/วัน ระหว่างนี้รอการอนุมัติจากกรมการบินพลเรือน

ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสภ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA กล่าวว่า รายได้หลักของบริษัทมาจากธุรกิจการบินของบางกอกแอร์เวย์ 80% ส่วนที่เหลือจะมาจากธุรกิจให้บริการเกี่ยวเนื่องในสนามบินสุวรรณภูมิ อาทิ แคทเทอริ่ง คลังสินค้า การบริการในลานจอดรถ มีสัดส่วน 13-14% รายได้ในส่วนนี้จะเติบโตตามศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิ และรายได้ส่วนที่เหลือจะมาจากสนามบินที่บริษัทเป็นเจ้าของ ได้แก่ สมุย ตราด และ สุโขทัย

นอกจากนั้น บริษัทยังมีการลงทุนในหุ้นสามัญของ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) ที่บริษัทถือเป็นระยะเวลานานมาแล้ว และเป็นส่วนที่เข้ามาสนับสนุนในสภาวะที่ธุรกิจการบินไม่ดี ช่วยทำให้บริษัทสามารถผ่านพ้นวิกฤตต่างๆมาได้

"เราเชื่อว่าแนวโน้มภาพรวมจะค่อยๆดีขึ้นมาและความสามารถการหารายได้ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก็ยังดีต่อไป นอกจากนี้บริษัทได้ทำเฮจจิ้งราคาน้ำมันในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% หรือสูงสุดไม่เกิน 70% ซึ่งปัจจุบันได้เฮจจิ้งไปถึงไตรมาส 2/58 แล้ว ทั้งนี้เพื่อต้องการสร้างเสถียรภาพของราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของบริษัทหรือคิดเป็น 30% ของต้นทุนทั้งหมด และจะมีผลต่อการตั้งราคาตั๋วโดยสาร

ทั้งนี้ ผลประกอบการในปี 56 มีรายได้รวมอยู่ที่ 2.07 หมื่นล้านบาท มีกำไรสุทธิ 990 ล้านบาท และช่วงครึ่งแรกของปี 57 มีรายได้รวม 1.1 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 204.8 ล้านบาท ภายใต้ 27 เส้นทางบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้บริษัทมีช่องทางการจำหน่ายตั๋วหลากหลาย ทั้งผ่านตัวแทนขาย 50% สำนักงานขายของบริษัท 15% อินเตอร์เน็ต 28% และผ่านโค้ดแชร์ 5%

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงิน BA กล่าวว่า BA เป็นสายการบินภายใต้แนวคิดบูติคแอร์ไลน์ ทำให้บริษัทมีอัตรากำไรต่อหน่วยสูงกว่าคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ EBITDA Margin ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 24-26% และครึ่งแรกของปี 57 แม้จะได้รับผลกระทบต่างๆ แต่ก็ยังมี EBITDA Margin ใกล้ 20%

ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 4.2 เท่าในงวดครึ่งปีแรก ลดลงจากปีที่แล้วอยู่ที่ 4.8 เท่า การขาดทุนสะสมของบริษัทมีอยู่กว่า 3 พันล้านบาทนั้นคาดว่าจะล้างได้หมดภายหลังการขาย IPO เพราะบริษัทจะมีส่วนล้ำมูลค่าหุ้นราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทจะขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ