(เพิ่มเติม) "วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์"เล็งขาย IPO 236ล้านหุ้นเข้าเทรดใน SET กลาง พ.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 7, 2014 13:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษดา ชวนะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์(VPO) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)หมวดธุรกิจการเกษตร โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)จำนวน 236 ล้านหุ้น ภายในกลางเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งมีบริษัท เดอะ ควอนท์ กรุ๊ป จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นแกนนำในการจัดจำหน่ายหุ้น IPO ครั้งนี้
"สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับ 1 Filing ของบริษัทฯเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 คาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้น IPO และเข้าจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเดือน พ.ย.57 และมีแผนการ Roadshow 4 จังหวัด ที่กรุงเทพฯ โคราช หาดใหญ่ และเชียงใหม่ ในช่วงกลางเดือน ต.ค.57"

VPO ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ ผลพลอยได้ รวมทั้งผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากของเสียหรือสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ในปัจจุบันมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ 2 แห่งที่ จ.ชุมพร กำลังการผลิตรวม 180 ตันปาล์มสด/ชั่วโมง ซึ่งเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

บริษัทมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 800 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 800 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท หุ้นที่นำมาขาย IPO ครั้งนี้ แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนออกใหม่ 140 ล้านหุ้น และเป็นหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม 96 ล้านหุ้น ซึ่งบริษัทจะนำเงินจากการระดมทุนในครั้งนี้ในสัดส่วน 70-80% ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงินที่มีอยู่ 1,000 ล้านบาท เพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ยลงราว 20 ล้านบาท/ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 55 ล้านบาท/ปี ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากบริษัทลงทุนขยายกำลังการผลิตรองรับการเติบโตในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าเรียบร้อยแล้ว

นายกฤษดา กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ากำไรสุทธิปี 58 เติบโต 30-40% จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีกำไรมากกว่าปี 56 แน่นอน หลังจากครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิแล้ว 173 ล้านบาท และครึ่งปีหลังน่าจะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ขณะที่ปี 56 บริษัทมีรายได้รวม 3,239 ล้านบาท กำไรสุทธิ 172 ล้านบาท สัดส่วนรายได้แบ่งเป็นการขายน้ำมันปาล์มดิบ 80% รายได้จากการขายเมล็ดปาล์ม 16% รายได้จากการไฟฟ้า 3% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต

อนึ่ง VPO อยู่ภายใต้ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจน้ำมันปาล์ม และธุรกิจพลังงาน โดยธุรกิจก่อสร้างมี บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างทางหลวง สะพานทางแยกต่างระดับ ทางด่วน สนามบิน งานชลประทาน งานระบบบำบัดน้ำเสีย และงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่

ส่วนธุรกิจน้ำมันปาล์ม VPO ประกอบธุรกิจปลูกสวนปาล์ม และโรงงานสกัดผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพื่อขายในประเทศ และส่งออก สำหรับธุรกิจพลังงานนั้น มี บริษัท วีจี เอ็นเนอร์ยี จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิตรวม 8.4 เมกกะวัตต์ จำหน่ายจากเชื้อเพลิงก๊าชชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวมวลที่ได้จากของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ขนาด 4.5 เมกกะวัตต์และ 2.5 เมกกะวัตต์

ด้านนายพากพูม วัลลิสุต ประธานกรรมการ บริษัทเดอะ ควอนท์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดน้ำมันปาล์มดิบและเมล็ดในปาล์มมีแนวโน้มการเติบโตสูง เนื่องจากเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับการบริโภคน้ำมันพืชและมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นทุกปีจากการเติบโตของประชากรโลก และการบริโภคน้ำมันพืชต่อคนต่อปีที่สูงขึ้น ทั้งในแง่ของการบริโภคอาหารและใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยเฉพาะความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับการบริโภคน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้ประกาศนโยบายปรับเปลี่ยนน้ำมันไบโอดีเซลในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากไบโอดีเซลบี5 เป็นน้ำมันไบโอดีเซลบี 7 ซึ่งมีส่วนผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบในสัดส่วนมากกว่า ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก และถือเป็นการลดสต๊อกคงค้างของน้ำมันปาล์มดิบที่มีแนวโน้มเพิ่ม สูงขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนธุรกิจบริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ของประเทศ

ขณะที่นายยุทธ วรฉัตรธาร ประธานคณะกรรมการ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริษัท มีความพร้อมในการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยจุดเด่นด้านประสบการณ์ในธุรกิจนี้มากว่า 20 ปี และเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ส่งผลให้ช่วงที่ฤดูผลปาล์มทะลายออกสู่ตลาดมาก ณ จุดรับซื้อนั้น เกษตรกรสามารถมาจำหน่ายให้บริษัทโดยตรงแทนได้ทันที ทำให้ปัญหาการต่อคิวนานและการสูญเสียปริมาณน้ำมันปาล์มดิบระหว่างการรอคิวลดน้อยลง

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเป็นเพียงผู้ผลิตไม่กี่รายที่สามารถส่งออกน้ำมันปาล์มดิบด้วยตนเอง และที่สำคัญบริษัทนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติที่ทันสมัยมาใช้ ทำให้ได้อัตราการให้น้ำมันจากทะลายที่สูงและมีอัตราการสูญเสียน้ำมันจากการผลิตน้อย อีกทั้งการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะส่งผลดีให้กับบริษัท เนื่องจากจะช่วยให้ภาวะการเก็งกำไรในราคาขายน้ำมันปาล์มดิบในประเทศลดน้อยลง และเพิ่มโอกาสในการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบของไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ