ส่วนกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ เอ็นแฮนซ์ 5 ( KTFF5) อายุโครงการ 1 ปี เน้นลงทุนตราสารต่างประเทศ ประเภท เงินฝากประจำ China Construction Bank ,เงินฝากประจำ Agricultural Bank of china , MTN ออกโดย Standard Bank และ MTN ออกโดย Banco BTG Pactual S.A ในสัดส่วน 88% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนใน หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน สถาบันการเงิน บริษัทเอกชนในประเทศ ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 2.95% ต่อปี
นางชวินดา กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ไทยมีการปรับตัวลดลงเกือบทุกช่วงอายุ ตามแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศ หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกันยายนออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สนับสนุนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนปรนด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีกระยะหนึ่งประกอบกับปริมาณพันธบัตรออกใหม่ของไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้ายังมีปริมาณน้อยกว่าความต้องการลงทุน โดยสรุปอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง 5 bps อยู่ที่ 2.34% ต่อปี อายุ 5 ปี ปรับตัวลดลง 5 bps.มาอยู่ที่ 2.94% ต่อปี และอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง 7 bps มาอยู่ที่ 3.45% ต่อปี
ภาวะเศรษฐกิจประเทศ ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงล่าช้า การบริโภคภาคเอกชนหดตัวทั้ง YoY และ MoM ( -0.8%YoYหรือ -0.2%MoM, ปรับฤดูกาล) เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวลง -5.6%YoY แต่ก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการบริโภคสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ เริ่มทรงตัว ขณะที่การส่งออกนั้นย่ำแย่โดยหดตัวถึง -7.4%YoY อย่างไรก็ตาม การนำเข้าที่อ่อนตัวตลอดช่วงที่ผ่านมา ทำให้ดุลการค้ายังคงเกินดุลค่อนข้างสูงเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกไป
นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาคการคลังจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตเช่นกัน โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและเซ็นสัญญาโครงการลงทุนต่างๆ ซึ่งเรามองว่าอาจไม่ส่งผลดีในปีนี้ แต่จะเห็นผลในปีหน้ามากกว่า และมีการช่วยเหลือชาวนาโดยตรงซึ่งน่าจะเห็นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยรวมแล้ว เรายังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจเติบโตไม่สูงนัก เพียง1.3% เท่านั้น แต่คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ค่อนข้างดีถึง 5.0% เลยทีเดียว