นายบัญฑูร ชุณหสวัสดิกุล หัวหน้าสำนักงานกฏหมาย FBLP LEGAL CO.,LTD ในฐานะทนายความของนายไพบูลย์ เปิดเผยว่า นายไพบูลย์ได้ร้องขอให้ ก.ล.ต.ระงับการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของ TSE ต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO) ตั้งแต่วันวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา และในวันที่ 10 ต.ค.นี้จะเดินทางไปยัง ก.ล.ต.เพื่อสอบถามความคืบหน้า ซึ่งหาก ก.ล.ต. มีความเห็นให้ TSE ยังสามารถขายหุ้นไอพีโอต่อไปได้อีก นายไพบูลย์ก็จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป
ทั้งนี้ นายไพบูลย์ ยืนยันว่าจะสู้คดีจนถึงที่สุดเพื่อระงับการเสนอขายหุ้น IPO ของ TSE ที่ยังมีคดีความค้างอยู่ เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่จะเข้ามาซื้อหุ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้นายไพบูลย์ ได้ยื่นฟ้อง TSE ต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 18 พ.ย.54 เรื่องการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น TSE เพื่อพิจารณาแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,365 ล้านบาท จากเดิม 320 ล้านบาท โดยเวลาดังกล่าวกรรมการที่มีอำนาจ คือ นายประชา และนางสาวแคทลีน ไม่ได้ส่งหนังสือเชิญประชุมหรือบอกกล่าวใด ๆ และเรียกประชุมใหญ่ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดไว้ ซึ่งขณะนั้นนายไพบูลย์ ถือหุ้น TSE ในสัดส่วน 26% ทำให้การประชุมครั้งนั้นเป็นการประชุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว TSE ได้ชี้แจงกับนายไพบูลย์ว่ายังติดค้างชำระค่าหุ้นจำนวน 5.24 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยผิดนัดอีกกว่า 2.38 ล้านบาท ทำให้ทาง TSE ริบหุ้นที่นายไพบูลย์ทั้ง 8.34 ล้านหุ้นเพื่อขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 27 ก.ค.56 ซึ่งบริษัท พี.เอ็ม. เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่เป็นของกลุ่มครอบครัวมาลีนนท์ได้เข้ามาเป็นผู้รับซื้อหุ้นของนายไพบูลย์ ทั้งหมดในราคากว่า 30 ล้านบาท ดังนั้น นายไพบูลย์จึงฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์และรับของโจรด้วยการลักเอาหุ้นไปขายทอดตลาดและรับซื้อไว้เอง ซึ่งในที่ 15 ต.ค.57 ศาลอาญาจะมีการนัดไต่สวนคดีดังกล่าว
"นายไพบูลย์ได้เข้าประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่มีการเพิ่มทุนเป็น 320 ล้านบาท และได้ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดตามสัดส่วนหมดแล้ว แต่ในการประชุมเพื่อเพิ่มทุนเป็น 1,365 ล้านบาทนั้นนายไพบูลย์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมจึงไม่ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีก และต่อมายังถูกริบหุ้นทั้งหมดเพื่อขายทอดตลาดด้วย จึงถือว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อ TSE ยังมีคดีความจึงมองว่าไม่เหมาะสมที่จะนำเสนอขายหุ้น IPO ให้กับประชาชนทั่วไปได้ เพราะหากศาลมีการพิจารณาว่าการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายจะส่งผลให้การเพิ่มทุนครั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ และส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่เข้าซื้อหุ้นของ TSE"ทนายความ กล่าว
ทั้งนี้ ในการฟ้องคดีครั้งนี้นายไพบูลย์ เรียกร้องค่าเสียหายหลักพันล้านบาท แต่ยังเปิดโอกาสให้ทางกลุ่มมาลีนนท์มาเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยเพื่อคืนหุ้นที่ริบไปทั้งหมดกลับมา และหลังจากนั้นหาก TSE ความต้องการให้นายไพบูลย์ใช้สิทธิเพิ่มทุนก็สามารถหารือกันได้
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง TSE และเป็นผู้ชักชวนนายประชาเข้าร่วมลงทุน และร่วมกันบริหารบริษัทเป็นเวลากว่า 2 ปี และนางสาวแคทลีน ได้เข้ามาร่วมบริหารด้วย และเกิดปัญหาขัดแย้งกันจึงตัดสินใจลาออกจากบริษัท โดยขณะนั้นโครงการต่าง ๆ ของบริษัทดำเนินงานก่อสร้างไปกว่า 95% เมื่อลาอออกมาแล้วทาง TSE จึงนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนโดยไม่ได้บอกกล่าว
"หลังจากที่ผมลาออกมาแล้วก็มีความคิดว่าจะขายหุ้นที่ผมถืออยู่ให้กับนายประชา แต่เขาไม่รับซื้อหุ้น ผมจึงได้เสาะหาและติดต่อผู้ลงทุนรายอื่นๆ เพื่อที่จะซื้อหุ้นต่อจากผม แต่ก็ถูกกีดกัน"นายไพบูลย์ กล่าว