ส่วนสายสีส้ม เฟสแรก(ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) วงเงิน 1 .01 แสนล้านบาทนั้น รฟม.ได้เสนอเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งจะสามารถเสนอครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายได้ภายในปี 2557 แน่นอน
พร้อมกันนี้ เตรียมที่จะเสนอครม.ขออนุมัติโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ส่วนต่อขยาย(พญาไท-ดอนเมือง) ระยะทาง 21.87 กม. วงเงิน 3.11 หมื่นล้านบาท เพื่อเดินหน้าประกวดราคาก่อสร้าง ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เสนอแผนมาที่กระทรวงแล้ว
ทั้งนี้ ในวันที่ 13 ต.ค. พล.อ.อ.ประจิน จะเดินทางไปตรวจพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณสถานีกลางบางซื่อซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างในส่วนของทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบรอบ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ด้วย โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้ง ร.ฟ.ท. กทพ.และเอกชนผู้รับเหมามาร่วมหารือภาพรวมในการก่อสร้าง
นางสร้อยทิพย์ กล่าวถึงการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) จะยึดหลักประโยชน์ของประชาชน และไม่ขัดข้อกฎหมายซึ่งมติครม.ให้รฟม.ดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ส่วนการเดินรถให้พิจารณาและนำเสนอต่อไป โดยนโยบายกระทรวงต้องการให้รฟม.ไปเจรจากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ในการเดินรถต่อเชื่อม โดยให้ยึดมติครม.ที่เกี่ยวข้องและต้องไม่ขัดกับข้อกฎหมาย
นายรณชิต แย้มสะอาด รักษาการผู้ว่าการฯ รฟม. กล่าวว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้ให้ความเห็นชอบให้รฟม.เดินรถเองทั้งสายสีเขียวเหนือและใต้ในรูปแบบ PSC โดยรฟม.เป็นผู้จัดซื้อรถไฟฟ้าเอง แต่ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้เจรจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ในการเดินรถต่อเชื่อม เพื่อให้ผู้โดยสารเกิดความสะดวกสูงสุด ซึ่งรฟม.จะเร่งเจรจา 3 ฝ่ายเพื่อหาข้อสรุปและนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับแนวทางการเดินรถเอง
"สายสีเขียวเหนือและใต้ มีข้อแตกต่างกัน เนื่องจากสีเขียวส่วนเหนือจะเป็นการต่อเชื่อมกับบีทีเอสจากหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งเป็นสัมปทานของบีทีเอส ส่วนสีเขียวใต้เป็นการต่อเชื่อมกับช่วงสำโรง-แบริ่ง ซึ่งกทม.จ้างบีทีเอสเดินรถ จึงต้องเจรจา 3 ฝ่าย และยังมีประเด็นการเดินรถนอกเขตพื้นที่กทม. และสัญญาสัมปทานระหว่างกทม.และบีทีเอสจะครบกำหนดด้วย อย่างไรก็ตาม จะสรุปแนวทางการเจรจาให้เรียบร้อยภายในปีนี้"นายรณชิตกล่าว