(เพิ่มเติม) บลจ.บัวหลวง ผนึก"มูลนิธิเพื่อคนไทย-เช้นจ์ ฟิวชัน"ตั้งกองทุนรวมคนไทยใจดี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 9, 2014 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง เปิดเผยว่า บริษัทได้ผนึกกำลังกับมูลนิธิเพื่อ“คนไทย"และสถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน เพื่อจัดตั้ง“กองทุนรวม คนไทยใจดี"หรือ BKIND ภายใต้คอนเส็ปต์“การลงทุน...ที่ให้ทำดีตั้งแต่บาทแรกของเงินลงทุน"โดยเป็นกองทุน E S G C กองแรกของประเทศไทย เสนอขายครั้งแรกวันที่ 20-28 ต.ค.57 มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ราคาเสนอขาย 10 บาทต่อหน่วย ส่วนมูลค่าขั้นต่ำในการจองซื้อ 1,000 บาท

กองทุน BKIND มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมเงินจากผู้ลงทุนไปลงทุนในกิจการที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) บรรษัทภิบาล (Good Governance) และต่อต้านคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption) เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุน ภายใต้แนวคิดที่ว่า“กิจการที่มีกำไรและยั่งยืนต้องอยู่บนพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ เพื่อยกระดับสังคมไทยอย่างแท้จริง"

ดังนั้น กองทุนรวมนี้จึงจะใช้แนวคิดนี้ในการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวที่ยั่งยืน โดยจะเน้นการลงทุนหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ หรือตลาดรองอื่นๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่นอกจากจะเป็นกิจการที่มีปัจจัยพื้นฐานดีแล้ว ยังจะต้องเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคมทั้ง 4 ด้านข้างต้นด้วย

“นอกเหนือจากเป็นกองทุนรวมกองแรกที่มุ่งในเรื่องของ ESGC แล้ว กองทุนรวม คนไทยใจดี ยังเป็นกองทุนรวมกองแรกที่มอบรายได้ในการจัดการกองทุน 40% หรือเทียบเท่า 0.8% ของมูลค่าเงินกองทุน เพื่อสนับสนุนหรือลงทุนในโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆ อันเป็นการทำให้เงินทุกบาทของผู้ลงทุนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการต่างๆ ที่จะได้รับการสนับสนุนนั้น จะมีคณะกรรมการพิจารณาโครงการที่เหมาะสม ดังนั้น ผู้ลงทุนใน กองทุนรวม คนไทยใจดี จึงจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และเป็นผู้ให้แก่สังคมได้ กองทุนนี้จึงเป็นการรวมคนที่มีแนวคิดของการให้มาไว้ที่เดียวกันโดยลงทุนผ่านกองทุนเดียวกัน นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของการลงทุน ที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ คือให้แก่สังคมและรับจากโอกาสในการลงทุน"นางวรวรรณ กล่าว

กองทุนนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ลงทุนที่เชื่อมั่นในการลงทุนระยะยาวในกิจการดีๆ ที่รับผิดชอบต่อสังคมทั้ง 4 ด้าน (E, S, G, C) และต้องการให้ทุกบาททุกสตางค์ของเงินลงทุนของผู้ลงทุนมีส่วนร่วมสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้น ทั้งยังเหมาะสำหรับผู้ที่สามารถรับความผันผวนระยะสั้นของราคาหน่วยลงทุนของกองทุนได้ เนื่องจากเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นโดยมีเป้าหมายคือผลตอบแทนที่เป็นกอบเป็นกำในระยะยาว นอกจากนี้ ยังเหมาะแก่นิติบุคคลที่ต้องการสนับสนุนโครงการที่สร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่สังคมไทยอีกด้วย

นางวรวรรณ กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนไทยที่ผ่านเกณฑ์ ESGC ในปัจจุบันมีอยูทั้งหมด 34 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผลตอบแทนจากการลงทุนชนะตลาดมาเสมอ ยกตัวอย่าง หากลงทุนใน 34 บริษัทดังกล่าวเป็นระยะเวลา 1 ปี จะมีผลตอบแทนที่ 24% ระยะ 3 ปีจะมีผลตอบแทน 35% และ 10 ปีจะอยู่ที่ 33% เทียบกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ 1 ปีจะมีผลตอบแทนเฉลี่ย 14% ระยะ 10 ปี จะมีผลตอบแทน 9.4%

ทั้งนี้ ทาง บลจ.บัวหลวง อยู่ระหว่างการหารือและศึกษาระเบียบว่าจะสามารถเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่เข้าไปลงทุนได้หรือไม่ เพราะเห็นว่ากจะทำให้บริษัทจดทะเบียนอื่นๆ พัฒนาตนเองให้เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการ มูลนิธิเพื่อ “คนไทย" กล่าวว่า สาเหตุที่มูลนิธิฯ เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนดังกล่าวเพราะต้องการเห็นคนไทยทุกภาคส่วน รวมทั้งนักลงทุนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม ร่วมกันปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจขนาดใหญ่ที่อาศัยเพียงกำลังจากภาครัฐคงจะไม่สำเร็จ ภาคตลาดทุนเองก็สามารถช่วยได้ ถ้าดูจากเงินลงทุนในบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีมูลค่ามหาศาลถึง 14 ล้านล้านบาทต่อปี เพียง 1% ของเงินจำนวนนี้ถูกแบ่งมาลงทุนเพื่อสังคม ยิ่งจะช่วยทำให้เงินลงทุนอีก 99% นั้น เป็นทุนที่ยั่งยืน เติบโตต่อไปได้อีก

มูลนิธิฯ และสถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน จึงได้เสนอแนวคิดนี้ต่อ บลจ.บัวหลวง ร่วมกันออกแบบกลไกเป็นกองทุนรวม โดยหวังให้เกิดประโยชน์สองด้าน ด้านแรกเป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้สนับสนุนบริษัทที่มีการกำกับกิจการที่ดีตามเกณฑ์ ESG ซึ่งเฉพาะกองทุนนี้ ได้ประยุกต์เพิ่มตัว C ที่หมายถึงการต่อต้านคอร์รัปชันเข้าไปด้วย กับอีกด้านเป็นกลไกที่กำหนดให้มีการแบ่งเงิน 0.8% ของผู้ลงทุน โดยจ่ายผ่านกลไกส่วนแบ่งค่าบริหารจัดการร้อยละ 40 ของบลจ.บัวหลวง ไปสนับสนุนโครงการที่แก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคมไทยประเภทต่างๆ

"ในอนาคตอันใกล้ มูลนิธิฯ มีความตั้งใจที่จะพัฒนากองทุนเพื่อสังคมประเภทอื่นอีก พร้อมกับเดินหน้าต่อพัฒนาเกณฑ์การกำกับกิจการที่ดี ESGC ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ให้เป็นเกณฑ์ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานที่ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ได้ สำหรับการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม หรือ Socially Responsible Investment หรือ SRI ของประเทศไทย"

นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการ สถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวถึงโครงการเพื่อสังคมที่มีโอกาสได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนนี้ว่าเป็นโครงการที่มุ่งเน้นสร้างอนาคตใหม่ให้สังคมไทยในประเด็นที่มีความสำคัญ สามารถวัดผลการเปลี่ยนแปลงได้ มีความยั่งยืน ขยายผลได้ และยังมีความเชื่อมโยงกับประเด็นการปฏิรูปประเทศไทยที่สำคัญ เช่น การศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะภาคการเกษตร การทุจริตคอร์รัปชัน การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ โครงการเหล่านี้จะต้องมีแผนการดำเนินงานชัดเจนโดยองค์กร กลุ่มคน หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ โดยคณะทำงานประกอบด้วยสถาบันเช้นจ์ฟิวชันฯและมูลนิธิเพื่อคนไทยเตรียมข้อมูลโครงการเพื่อสังคมที่ผ่านเกณฑ์แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาโครงการซึ่งเป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถเป็นที่ยอมรับว่ามีความเข้าใจปัญหาของสังคมไทยและมีวิสัยทัศน์แก้ไขปัญหา

ประกอบด้วย นายวิรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์, นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรรมการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ, นางสินี จักรธรานนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอโชก้า(ประเทศไทย), นายโชน โสภณพนิช กรรมการ บลจ.บัวหลวง, นางวรวรรณ, นายวิเชียร และนายสุนิตย์

กระบวนการเริ่มจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการจะประชุมคัดเลือกโครงการที่สมควรได้รับการสนับสนุน รวมทั้งจำนวนเงินและเงื่อนไขการสน้บสนุนของแต่ละโครงการจากนั้นส่งให้คณะกรรมการอนุมัติเงินเพื่ออนุมัติการจ่ายเงินโดยจำนวนนั้นจ่ายผ่านบัญชีมูลนิธิยุวพัฒน์เพื่อโครงการกองทุนคนไทยใจดี ทุกโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจะมีการติดตามรายงานความก้าวหน้าให้นักลงทุนรับทราบในทุกไตรมาส


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ