"ชุมชนมุสลิมทั่วประเทศไทยมีประมาณ 8 ล้านคน หรือประมาณ 12.5% ของประชากรไทย และมีมุสลิมทั่วโลกคิดเป็น 30% ของประชากรโลก ใหญ่พอที่จะวางยุทธศาสตร์ที่จะทำตลาดกับคนมุสลิมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทาง AMANAH ไม่ได้มองแต่แค่ในไทยเท่านั้น เรามองที่จะเจาะตลาด AEC ด้วย โดยร่วมมือกับองค์กรมุสลิมเป็นแกนหลักผ่าน Ameen, เครือข่ายสหกรณ์อิสลาม และนักธุรกิจมุสลิม"นายธงรบ กล่าว
Ameen หรือ ACORP ก่อตั้งจากการระดมทุนแบบ Private Placing โดยผู้บริหารของ ACORP ที่มาจาก AMANAH จะถือหุ้นในนามของบุคคลรวมกันในสัดส่วน 25% ขณะที่กลุ่มองค์กรมุสลิม, กลุ่มนักธุรกิจมุสลิม และเครือข่ายสหกรณ์อิสลาม จะร่วมกันถือหุ้นกลุ่มละ 25% โดยมีบุคลากรของ AMANAH เข้ามารับงานเป็นผู้บริหารงานของ ACORP
บริษัทดังกล่าวจะปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการขนาดใหญ่ เน้นที่เป็นกิจการของชาวมุสลิมเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ในกลุ่มชุมชนชาวมุสลิมมีโครงการหลายด้าน ทั้งการผลิตพลังงานสะอาดจากพืช ทั้งปาล์มและอ้อย, โครงการผลิตน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด ซึ่งแต่ละโครงการอาจต้องใช้เงินลงทุนในหลักพันล้านบาทขึ้นไป
นอกจากนั้น จะให้การสนับสนุนธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าฮาลาลทั้งการกระจายสินค้าในประเทศและในเวทีโลก, ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อรองรับการพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ของชาวมุสลิม, โครงการลงทุนด้านสินค้าเกษตร และสินค้าปลอดสารพิษ เป็นต้น
"จะนำเงินที่ได้มาใช้ในโครงการตามแผนที่มองไว้ ทั้งร่วมปล่อยสินเชื่อในโครงการน้ำมันเชื้อเพลิงจากพืช และโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งมีมูลค่าโครงการละ 1,500-2,000 ล้านบาท ทั้งสองโครงการนี้ได้มีมองพื้นที่ที่จะทำแล้ว โดยมีการมองที่ในจังหวัดกาญจนบุรี และที่ภาคใต้ ซึ่งก็มีคนมานำเสนอ(present) แต่อยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่ที่จะลงอยู่"นายธงรบ กล่าว
นายธงรบ กล่าวว่า โครงการเหล่านี้ก็จะได้รับการช่วยเหลือในการระดมทุน ซึ่งทาง ACORP ก็จะได้รับประโยชน์ในระยะยาว อย่างเมกะโปรเจ็ค ซึ่งจะทำกับรายใหญ่อย่างเดียว และถ้าเป็นโครงการรายย่อย จะส่งต่อให้ทาง"อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง"ทำไป ซึ่งก็เป็นโครงการไม่เกิน 1 ล้านบาท
สำหรับรูปแบบการระดมทุนในแต่ละโครงการ จะมีการจัดตั้งขึ้นมาเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญคณะหนึ่งจากการร่วมลงขัน จากนั้นเมื่อโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จสามารถยืนได้ด้วยตัวเองแล้ว ก็อาจจะมีการจัดตั้งบริษัทฯขึ้นมาแทนแล้วขายหุ้นให้ชุมชนชาวมุสลิม เพื่อให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของโครงการด้วย และเมื่อคืนทุนให้กับผู้ร่วมลงขันแล้วห้างหุ้นส่วนสามัญก็จะหายไป
"เราจะทำทุกสิ่งในชีวิตประจำวันที่มีประโยชน์กับทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะการทำอย่างนี้เท่ากับเราได้เข้าไปดูแลเศรษฐกิจให้กับคนอิสลาม และสถาบันการเงินอิสลามก็ทำงานควบคู่กับศาสนาได้ ชาวมุสลิมที่ต้องการสภาพคล่อง อย่าง AMANAH เองเราจะไม่จำกัดแต่เฉพาะสินเชื่อรถยนต์เท่านั้น อย่างที่เริ่มทำตอนนี้ก็เป็นตู้เติมน้ำมันหยอดเหรียญ ซึ่งสามารถไปอยู่ได้ในทุกชุมชนมัสยิด ทำให้สร้างอาชีพและสร้างรายได้ด้วยให้กับคนในชุมชนด้วย"นายธงรบ กล่าว
สำหรับสิ่งที่ AMANAH จะได้รับจากการร่วมมือกับ ACORP คือค่าจ้างในการบริหารงาน และเป็นการใช้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจลิสซิ่งผลักดันให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมชาวมุสลิม อีกทั้งทาง AMANAH ยังได้ลูกค้ารายย่อยที่เกิดจากการเชื่อมโยงธุรกิจกับทาง ACORP ได้ ซึ่งทางผู้ถือหุ้นของ AMANAH จะได้ผลประโยชน์ที่ดีในแง่ของ Goodwill ถือว่ายากที่จะประเมินค่าได้
"ACORP พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้คนมุสลิม ซึ่งก็จะได้ฐานลูกค้าที่ชัดเจน หนี้เสียก็น้อย เพราะมุสลิมมีวินัยการใช้เงิน ทั้งนี้ จากเดิม AMANAH ทำธุรกิจกับคนที่ไม่ใช่มุสลิมสัดส่วนถึง 90% และเป็นคนมุสลิมแค่ 10% เท่านั้น และตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป บริษัทฯจะทำธุรกิจกับคนมุสลิมให้มีสัดส่วน 90% และไม่ใช่มุสลิม 10%
*มั่นใจปีนี้พลิกเป็นกำไรหลังเร่งเรียกเก็บหนี้ลด NPL
นายธงรบ กล่าวว่า บริษัทฯคาดว่าผลประกอบการในงวดไตรมาส 3/57 จะพลิกเป็นกำไรได้ หลังจากไตรมาส 2/57 ขาดทุนสุทธิ 23.96 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯได้เรียกเก็บหนี้ที่สงสัยจะสูญ(NPL)คืนมาได้มากขึ้น ทำให้ NPL ลดลงจาก 13% เหลือแค่ 7% และในไตรมาส 4/57 ก็จะเรียกเก็บหนี้ NPL ได้เพิ่มอีก
นอกจากนั้น สิ้นปีนี้บริษัทฯคาดว่าผลประกอบการจะสามารถพลิกเป็นกำไรได้ หลังจากปี 56 ขาดทุนสุทธิ 56.99 ล้านบาท แม้ว่างวด 6 เดือนแรกของปีบริษัทจะขาดทุนกว่า 80 ล้านบาท แต่บริษัทยังมีกำไรสะสมอยู่กว่า 200 ล้านบาท จึงคิดว่ายังไม่จำเป็นจะต้องมีการระดมทุนเพิ่มแม้จะมีโครงการขยายธุรกิจ
และบริษัทฯก็มีแนวโน้มที่จะแก้ไขปัญหา NPL ที่เคยมีอยู่ประมาณ 350 ล้านบาทได้มากขึ้น หลังจากที่แก้ไขปัญหาหนี้ดังกล่าวได้บ้างแล้วจนเหลือกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯสามารถแก้ไขหนี้ได้กว่า 60% ของยอด NPL ทั้งหมด ทำให้สถานะของบริษัทดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยบริษัทฯมีเป้าหมายจะลดนี้ NPL ในปีนี้ให้เหลือไม่เกิน 5%
นายธงรบ กล่าวว่า บริษัทยังเชื่อว่าในปี 58 จะมีกำไรมากขึ้นกว่าปีนี้ เนื่องจากบริษัทไม่ได้จำกัดการปล่อยสินเชื่อแต่เฉพาะสินเชื่อรถยนต์เท่านั้น เพราะเป็นตลาดที่เริ่มอิ่มตัว แต่เปิดกว้างมากขึ้นด้วยการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนชาวมุสลิม โดยในปีนี้ได้เพิ่มธุรกิจตู้เติมน้ำมันหยอดเหรียญ นอกจากนี้ ยังมีตู้เติมเงินมือถืออีกที่คาดว่าจะเริ่มทำในไตรมาส 4/57
ทั้งนี้ ในปีหน้าบริษัทคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อตู้เติมน้ำมันหยอดเหรียญ และตู้เติมเงินมือถือ รวมแล้วประมาณ 10,000 ตู้ จากปีนี้ที่คาดว่าจะปล่อยได้ 2,000 ตู้ โดยตู้เติมน้ำมันฯ ได้รับการตอบรับที่ดีมาก มีมัสยิดต่างๆ ซื้อจากบริษัทไปแล้วประมาณ 4,000 มัสยิด คาดว่าจะขายตู้น้ำมันหยอดเหรียญมากกว่า 5,000 ตู้ได้อย่างแน่นอน ซึ่งให้อัตรากำไรที่ดีด้วย ลูกค้าสามารถนำไปใช้ในการสร้างรายได้ และคืนทุนได้ใน 1 ปี และ การปล่อยสินเชื่อตู้น้ำมันหยอดเหรียญก็ให้อัตรากำไรแก่ AMANAH ประมาณ 1-2% ต่อปี
"ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทฯยังมาจากสินเชื่อรถยนต์มือสองเกือบ 100% มีทั้งรถยนต์, รถตู้ และรถกระบะ ซึ่งเราก็ยังคงปล่อยให้อยู่ต่อไป เพียงแต่ AMANNAH จะมีการให้สินเชื่อที่เปิดกว้างขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะรถยนต์เท่านั้น เพราะมองว่าตอนนี้ตลาดรถยนต์มีการแข่งขันสูง ลิสซิ่งเลยจุด peak ไปแล้ว มันมีการแข่งขันที่ price มากเกินไป ทำให้ไม่มีมาร์จินกันแล้ว แล้วพอเศรษฐกิจมีปัญหาพวกรถยนต์ก็จะได้รับผลกระทบก่อน...3 เดือนที่ผ่านมาเราไม่ได้ปล่อยสินเชื่อรถยนต์เลย เพราะถ้าเห็นว่าเป็นหนี้เสียแล้วจะปล่อยทำไม มองว่าตลาดรถมันอิ่มแล้ว"
"ดังนั้นเราเลยมีการ design ธุรกิจของตัวเองกันใหม่ หลังจากที่ผมได้เข้ามาเริ่มทำงานในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ภายใน 2 เดือน ผมก็มีการ Re-Branding ไม่ใช้ Logo กับไอแบงก์(ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯในสัดส่วน 49%)แล้ว"
นายธงรบ กล่าวอีกว่า ในปีหน้าบริษัทฯมีแผนจะออกพันธบัตรอิสลาม(ซูกุก)วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท อัตรากำไร 6% คาดว่าจะเสนอขายได้ในไตรมาส 1/58 เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการตามแผนที่วางไว้
กรรมการผู้จัดการ AMANAH กล่าวว่า ราคาหุ้น AMANAH ในตอนนี้ถือว่ายังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี(Book Value)ที่มีประมาณ 1.20 บาท/หุ้น ซึ่งที่ผ่านมาหุ้น AMANAH ได้รับความสนใจจากนักลงทุนกันมาก ก็ไม่ทราบว่าเป็นผลจากอะไร คือมองว่าแล้วแต่นักลงทุนจะคิด แต่ก็ยอมรับว่า AMANAH เป็นธุรกิจลิสซิ่งที่น่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐฯด้วย