"ปลายปี 56 ราคาถ่านหินตลาดโลก 72-74 เหรียญฯ ปัจจุบันลงมา 64 เหรียญฯ ราคาตกต่ำลงกว่า 10% หรือราว 15% ราคาถ่านหินเราก็หายไปเยอะตามราคาตลาดโลก ดังนั้น ปีนี้ (57) กำไรสุทธิน่าจะต่ำกว่าปีก่อนที่ 572 ล้านบาท เพราะราคาถ่านหินลดลงไป 15% คงทำกำไรไม่เท่าปีก่อน รายได้ก็ต่ำกว่าปีก่อน แต่บริษัทก็หาทางลด cost ให้ได้สอดคล้องกับที่จะขายแล้วมีกำไร"นายอนันต์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ารายได้จะต่ำกว่าครึ่งปีแรกที่มีรายได้ 6,800 ล้านบาท ถึงแม้ปริมาณขายใกล้เคียงกัน แต่ราคาถ่านหินต่ำกว่า ประกอบกับไตรมาส 4/57 เป็นฤดูฝนของอินโดนีเซีย ทำให้ปริมาณการผลิตจากเหมืองต่าง ๆ ลดลง
"ปริมาณขายคงไม่ต่ำกว่า แต่รายได้ต่ำตามราคาขาย เพราะฉะนั้นก็ฉุดกำไรลงมาด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังมีกำไร"นายอนันต์ กล่าว
ส่วนในปี 58 บริษัทตั้งเป้าปริมาณขายถ่านหิน 6 ล้านตันใกล้เคียงปีนี้ ตามกำลังการผลิตรวมของบริษัท เพราะอยู่ในเงื่อนไขสัมปทาน โดยปัจจุบันบริษัทมีเหมืองถ่านหิน 2 แห่งในอินโดนีเซีย เหมืองแห่งแรกมีกำลังการผลิต 3.5 ล้านตัน เหมืองแห่งที่ที่ 2 มีกำลังการผลิตประมาณ 2.5 ล้านตัน
นายอนันต์ กล่าวถึงแผนการซื้อเหมืองแห่งใหม่ว่า คงยังไม่รีบสรุป เพราะขณะนี้ราคาถ่านหินยังเป็นขาลง จึงต้องศึกษาให้ดีเสียก่อน หากเร่งซื้อในตอนนี้เหมืองอาจจะแพงเกินไปและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งที่ผ่านนมาบริษัทก็ได้เข้าไปเจรจาอยู่ 2-3 รายที่มีความเป็นไปได้ โดยมีปริมาณสำรองราว 10-20 ล้านตัน นอกจากนั้น การเมืองของอินโดนีเซียยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง
"ถ่านหินยังเป็นขาลงอยู่เรื่อยๆ ถัวเฉลี่ยราคาขายของบริษัทอยู่แถว 40 กว่าดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ถือว่าต่ำมาก การซื้อเหมืองใหม่ ถ้าวิเคราะห์แล้วมีกำไรเราก็ซื้อเพราะมีเงินสดในมือ 700 กว่าล้านบาท มีเงินสดเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ช่วงนี้ชะลอก็หยุดไปก่อน แต่มีเจรจาตลอดเวลา"
"ตอนนี้เปลี่ยนประธานาธิบดีนโยบายก็เปลี่ยน นโยบายก็จะให้ความคุ้มครองทรัพยากรของประเทศ อาจจะมีกฎหมายออกมาป้องกันหลายๆเรื่อง...กฎหมายใหม่ให้สัมปทานครั้งละ 10 ปีและต่อได้ 2 ครั้ง ก็ประมาณ 20 ปี ต่างชาติถือหุ้น 49% แต่ 2 เหมืองเดิมเราสัมปทานเก่า 30 ปี"นายอนันต์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะยังไม่มีเหมืองเข้ามาเพิ่ม แต่บริษัทยังมีปริมาณสำรองถ่านหินกว่า 100 ล้านตัน จาก 2 เหมืองขนาดใหญ่ โดยแห่งแรกเป็นเหมืองซิงกุลุด อายุสัมปทานเหลือ 24-25 ปี ปริมาณสำรองไม่ต่ำกว่า 45 ล้านตัน เป็นถ่านคุณภาพสูงราคาประมาณ 44-45 เหรียญฯ/ตัน อีกเหมืองลานนาฮาริตะ อายุสัมปทานเหลือ 17 ปี ปริมาณสำรอง 64 ล้านตัน เป็นถ่านคุณภาพต่ำ ราคาอยู่ที่ประมาณ 38 เหรียญฯ/ตัน
"ต้องระวังตัวเศรษฐกิจแบบนี้ ต้องถอยดูเชิง เรื่องเงินลงทุนเราไม่ต้องห่วง เพราะไม่มีหนี้ มีแต่เงินสด ถ้าไม่รวมเงินที่จะต้องกันไว้จ่ายปันผลก็มีเงินสด 700-800 ล้านบาท และสามารถไปกู้ได้อีก 3-4 เท่า ไม่กังวลซื้อเหมืองใหม่ได้สบาย ส่วนหนี้หมุนเวียนไม่ได้เป็นภาระ"นายอนันต์ กล่าว
นายอนันต์ มองแนวโน้มราคาถ่านหินในตลาดโลกยังเป็นขาลง ซึ่งเป็นไปตามข้อจำกัดของโลก อย่างจีนก็กีดกันเรื่องการนำเข้าถ่านหินคุณภาพต่ำ ส่วนอินเดีย มีการจำกัดสัมปทานเหมืองถ่านหิน แต่คิดว่าราคาถ่านหินยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่วนนโยบายของรัฐบาลจีนคงไม่กระทบกับบริษัทมากนัก เนื่องจากขายในตลาดจีนน้อยอยู่แล้ว โดยตลาดใหญ่ คือ อินเดีย และขายผ่านตัวแทนใน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี และเข้ามาไทย
"ราคาก็คิดว่าต่ำสุดแล้วแต่ก็ยังไม่ปรับขึ้นซะที แต่ในฐานะผู้ผลิตพยายามจะทำผลกำไรให้ดีที่สุด ต้องหาวิธีลด cost เพื่อมีกำไร ไม่ขาดทุน"นายอนันต์ กล่าว
นายอนันต์ กล่าวว่า ภาวะขณะนี้ราคาถ่านหินค่อนข้างต่ำ ทำให้ผู้ซื้อต้องการทำสัญญาซื้อระยะยาว แต่บริษัทไม่ต้องการขาย เพราะราคาไม่ดีทำให้เสียโอกาส ดังนั้น ขณะนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นการขาย ณ ราคาตลาด และการทำสัญญาจะอยู่ระยะ 3-6 เดือน ส่วนของปี 58 ยังไม่ได้มีการทำสัญญาขายล่วงหน้า
"ตอนนี้เป็นจังหวะดูยังไม่ขายล่วงหน้า ส่วนใหญ่ในเกณฑ์ 3-6 เดือน ปีนี้เราก็จะขายเฉพาะแค่ไตรมาส 4/57 และไตรมาส 1/58 เท่านั้น จากปีก่อนตอนนี้เราจะขายของไตรมาส 1-2 ของปีถัดไปแล้ว ยิ่งราคาถ่านหินต่ำก็ไม่ขายยาว เรามีโอกาสที่ถ่านหินจะขึ้น เพราะถ้าคิดว่าอยู่ในจุดต่ำสุดก็ไม่น่าจะขายล่วงหน้าเยอะ"นายอนันต์ กล่าว
ด้านธุรกิจเอทานอล นายอนันต์ กล่าวว่า ดูตามแนวโน้มที่ บมจ.ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ (TAE) ประกาศปีนี้จะทำกำไร 250 ล้านบาท โดย LANNA ถือหุ้น 51% ก็จะรับรู้กำไรราว 100 ล้านบาท แม้ว่าจะไม่สามารถชดเชยกับธุรกิจถ่านหินที่ปรับลงมามากได้ เพราะเอทานอลคิดเป็นสัดส่วนกำไรเพียง 10% เท่านั้น แต่ก็ช่วยบรรเทาผลกระทบไปได้บ้าง
"เอทานอลปีนี้จะกำไรมากกว่า 250 ล้านบาท ซึ่ง TAE ดีกว่าปีก่อนแน่นอน"นายอนันต์ กล่าว