สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่กระทบการลงทุนในเดือนนี้ ประกอบด้วย การยุติโปรแกรมเข้าซื้อพันธบัตรและจับตาทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ โดยตัวเลขการจ้างงานสหรัฐกำลังบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นมาตลอด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกโดยรวมปรับตัวขึ้น แม้ว่าเฟดจะลดขนาด QE เนื่องจากสภาพคล่องยังคงสูง และตลาดมองที่การออกมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจรอบใหม่ของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในยูโรโซนที่ชะลอ และดัชนีราคาส่งสัญญาณเงินฝืด จึงเป็นตัวเร่งให้อีซีบีปรับลดดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งในปีนี้ รวมทั้งในเดือน ต.ค.จะเริ่มแผนการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ คาดว่าจะอัดฉีดเงินรอบนี้สูงสุดถึง 500,000 ล้านยูโร ราว 650,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ถ้าออกมาแย่กว่าคาดอาจเป็นปัจจัยลบกดดันภาวะตลาดมากขึ้น นั้นสะท้อนว่าเศรษฐกิจอาจขยายตัวไมได้ตามเป้า
"ปัจจัยที่อาจกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก คือโอกาสที่เกิดการปรับฐานของตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ยังไม่ได้ปรับฐานเลย นับตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์สหรัฐ"นายรณกฤตกล่าว
ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ สัญญาณเศรษฐกิจในประเทศเริ่มออกมาในเชิงบวกมากขึ้น โดยธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงท้ายปี และเติบโตระดับปกติในปี 58 และกระทรวงการคลังพร้อมเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งในช่วงกลางเดือน ต.ค. บริษัทจดทะเบียนจะเริ่มทยอยประกาศผลประกอบการในช่วงไตรมาส 3/57 ออกมา โดยเริ่มจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์
แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในเดือนนี้ เชื่อว่าหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจากเรื่องของผลประกอบการเติบโต และราคาหุ้นที่ยัง under value จะสามารถทนแรงขายของตลาดได้ อีกทั้งหากมีปัจจัยบวกที่โดดเด่นเป็นรายบริษัทจะยิ่งทำให้หุ้นตัวนั้นอาจปรับตัวขึ้นสวนทางตลาดที่ผันผวน เราจึงสนใจเลือกหุ้น ดังนี้ AMATA,RML,IRPC,BBL, INTUCH,PT และ AJD