สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เพิ่มขึ้น 10.5% จากช่วงเดียวกันของปี 56 มาอยู่ที่ 20,842 ล้านบาทในไตรมาส 3/57 เป็นผลมาจากการลดค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ในการลดต้นทุนเงินฝากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ในส่วนของสินเชื่อ มีการขยายตัวเล็กน้อยในระดับ 2.7% ต่อปี สะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวยให้ลูกค้ามีความต้องการในสินเชื่อใหม่เพื่อขยายธุรกิจ
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 56 อันเป็นผลจากการลดลงของรายได้เงินปันผลรับที่เกิดขึ้นในไตรมาส 3/56 แต่เมื่อดูเฉพาะในส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิของไตรมาส 3/57 ยังมีการเติบโตที่ต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/56
รายจ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3.4% ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การปรับใช้ทรัพยากร และการปรับระบบงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost-to-Income Ratio) ของไตรมาส 3/57 มาอยู่ที่ 37.6% ลดลงจาก 38.4% ของไตรมาส 3/56
คุณภาพของสินทรัพย์ โดยรวมทรงตัว อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือน ก.ย.57 อยู่ที่ 2.11% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับ ณ สิ้น ไตรมาส 2/57 และ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3/56 ซึ่งอยู่ที่ 2.08% จากการที่คุณภาพของสินทรัพย์อยู่ในระดับทรงตัวในไตรมาสที่ 3/57 ธนาคารจึงได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในระดับเดียวกับสองไตรมาสที่ผ่านมา
"ตั้งแต่ต้นปี 57 เป็นปีที่มีความท้าทายอย่างมากสำหรับธุรกิจการธนาคาร เราจึงได้มีการปรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งรวมถึงการลดต้นทุนเงินฝาก และ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่ในขณะเดียวกันได้มีการปรับและวางรากฐานทางธุรกิจเพื่อยกระดับการดำเนิน งานเตรียมรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไปในอนาคตด้วย ผลสำเร็จที่เกิดในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลของการดำเนินการได้ อย่างชัดเจน"
ด้านนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCB กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติในช่วงเศรษฐกิจขาลงที่ธนาคารจะชะลอตัวและไม่รับความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นเข้ามา แต่เมื่อมีสัญญานฟื้นตัวทางเศรษฐกิจปรากฎขึ้น ธนาคารจะมีการปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับกับสถานการณ์ในอนาคตในทันที ซึ่งผลประกอบการในไตรมาสนี้แสดงให้เห็นถึงความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยน กลยุทธ์ทางธุรกิจ สามารถรักษาระดับกำไรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน