นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ BTS กล่าวว่า บริษัทเป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าทั้งหมดราว 30 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่มีศักยภาพสูงในการนำมาพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายใต้บริษัทร่วมทุน โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นระหว่าง BTS และ SIRI เท่ากันฝ่ายละ 50:50 จากวิสัยทัศน์ร่วมกันที่ต้องการสร้างสรรค์ปรากฎการณ์ใหม่ในประเทศไทยด้วยการผนึกกำลังสองกิจการร่วมกันใช้ทรัพยากรและศักยภาพที่โดดเด่นผสานกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ด้วยความแข็งแกร่งในด้านเงินทุนของบีทีเอส กรุ๊ปฯ เพื่อรองรับการลงทุนในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า และความพร้อมด้านบุคลากร ประกอบกับรายได้ในส่วนของธุรกิจรถไฟฟ้าในปี 57/58 คาดว่าจะเติบโตถึง 12-15% และการมีที่ดินที่พร้อมพัฒนาในมือของบีทีเอส กรุ๊ปฯ ผสานกับความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของแสนสิริ เราจะร่วมกันพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่จะมีระบบขนส่งมวลชนความยาวนับร้อยกิโลเมตร"นายคีรี กล่าว
นายคีรี กล่าวเพิ่มเติมว่า BTS ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนบริษัทร่วมทุนกับ SIRI อาทิ บัตรแรบบิท (Rabbit) ซึ่งเป็นสมาร์ทการ์ดที่มีอัตราการเติบโตในระดับที่น่าพอใจ ขณะนี้มีผู้ถือบัตรกว่า 3 ล้านใบ และพันธมิตรร้านค้าร่วมมือกว่า 2,000 ร้าน เป็นตัวอย่างของโอกาสการสร้างความแตกต่างให้แก่โครงการคอนโดมิเนียมให้โดดเด่นไม่เหมือนใคร รวมทั้งธุรกิจอื่นๆ ที่มีโอกาสสร้างการบริการรูปแบบใหม่ในอนาคต จากการเป็นพันธมิตรในครั้งนี้
นายรังสิน กฤตลักษณ์ กรรมการบริหารและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ BTS กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะรับรู้รายได้จากการขายที่ดินบริเวณหมอชิตจำนวน 5 ไร่ให้กับบริษัทที่ร่วมทุนกับบมจ.แสนสิริ (SIRI) จำนวน 1,400 ล้านบาท ในไตรมาส 3 งวดปี 57/58 และมีกำไร แต่ยังระบุไม่ได้เพราะเป็นที่ดินที่ซื้อมาหลายราคา ขณะที่การรับรู้ผลประกอบการของบริษัทร่วมทุนนั้น BTS จะรับรู้เฉพาะกำไรในสัดส่วนที่บริษัทถืออยู่ 50%
ทั้งนี้ BTS มีที่ดินเปล่าอยู่หลายแปลง ได้แก่ ที่หมอชิต 16 ไร่ แบ่งให้บริษัทร่วมทุนกับ SIRI ไป 5 ไร่ และที่นำไปร่วมทุนกับ บมจ.แนเชอรัลพาร์ค (NPARK) 11 ไร่ , ย่านพหลโยธิน ซึ่งเดิมจะทำโครงการ Abtract เฟส 2 จำนวน 5 ไร่ ซึ่งอยู่ใกล้รถไฟฟ้า MRT สถานีพหลโยธิน ,ที่ดินในโครงการธนาซิตี้ 380 ไร่ , ที่ดินย่านราษฏร์บูรณะ ใกล้สำนักงานใหญ่ธนาคากสิกรไทย จำนวน 27 ไร่
นายรังสิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาผลประกอบการของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตไม่สม่ำเสมอเพราะไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ต่อเนื่อง ปกติแต่ละปีจะมีรายได้ประจำประมาณ 1,000 ล้านบาทจากธุรกิจโรงแรม 3 แห่งที่สาทร เชียงใหม่ และกาญจนบุรี รวมทั้งสนามกอล์ฟ แต่ในปีที่แล้ว(สิ้นสุด มี.ค.57) มีรายได้เพิ่มเกือบ 3,000 ล้านบาท มาจากการโอนคอนโดมิเนียม ทำให้ในปีที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้สูงถึง 33%
ขณะที่นายอภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการ SIRI เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมายบริษัทมีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อตอบรับทุกความต้องการของลูกค้า โดยปัจจุบันบริษัทก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรของไทยที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยปทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ด้วยจำนวนโครงการกว่า 280 โครงการ จำนวนที่อยู่อาศัยกว่า 28,000 ครัวเรือนครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศกว่า 15 จังหวัด
“ในวันนี้บริษัทมีความพร้อมที่จะประกาศแล้วว่ากลุ่มบริษัทแสนสิริมีศักยภาพเป็นมากเพียงพอที่จะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร และพร้อมที่จะช่วยต่อยอดหรือขยายโอกาสในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้กับพันธมิตรที่สำคัญของแสนสิริ เพื่อเป็นการประสานให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดร่วมกัน รวมถึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งและแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย" นายอภิชาติ กล่าว
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ SIRI กล่าวว่า กำไรสุทธิของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะสูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.9 พันล้านบาท แม้รายได้อาจจะพลาดเป้าหมาย เนื่องจากบริษัทมีการรับรู้รายได้จากการโอนโครงการเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งปี 57 จะรับรู้รายได้ราว 2.9 หมื่นล้านบาท จากยอดขายรอโอน (Backlog) ที่มีอยู่ 5.2 หมื่นล้านบาท และส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ฯไปจนถึงปี 60
ประกอบกับ บริษัทได้รับผลประโยชน์จากความร่วมมือกับ BTS ในด้านต้นทุนค่าโฆษณาที่ลดลง เนื่องจากได้รับการเอื้อประโยชน์จาก บมจ.วีจีไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BTS ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปี 57 อัตรากำไรสุทธิของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาที่ 12% จากปีก่อนอยู่ที่ 6.65% ซึงครึ่งปีแรกของปี 57 อัตรากำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 11.73% แล้ว
นายวันจักร์ บุรณศิริ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ SIRI เปิดเผยว่า ยอดขายในปีนี้จะออกมาต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 หมื่นล้านบาท หลังจาก 9 เดือนแรกของปีนี้ทำได้เพียง 7.7 พันล้านบาท เนื่องจากความไม่สงบทางการเมืองส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ยอดขายของบริษัทไม่เป็นไปตามเป้า ประกอบกับ บริษัทเปิดโครงการใหม่ต่ำกว่าแผนที่ตั้งไว้ 19 โครงการ รวมมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท หลังจากปรับนโยบายมาเปิดขายโครงการที่ได้รับใบอนุญาตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเท่านั้น ทำให้โครงการไหม่ที่อยู่ระหว่างการรออนุมัติ EIA ต้องเลื่อนเปิดขายออกไปเป็นปี 58