แผนงานดังกล่าวประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (Multi-Function Terminal) ด้านทิศเหนือ พร้อมระบบรถไฟฟ้า(โมโนเรล) วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท, สร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3 วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท, หลุมจอดเครื่องบิน 28 หลุม พร้อมอุโมค์เทียบเครื่องบิน วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท, งานออกแบบและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค วงเงิน 2.6 พันล้านบาท
"ให้ ทอท.พิจารณาเร่งการก่อสร้างทางวิ่งสำรอง เนื่องจากปัจจุบัน ทสภ.ประสบปัญหาต้องปิดซ่อมทางวิ่งทั้ง 2 เส้นอยู่เสมอ รวมทั้งก่อสร้างสาธารณูปโภคและสถานีดับเพลิงและกู้ภัยสนับสนุนทางวิ่งดังกล่าวด้วย นอกจากนั้น ให้พิจารณาการก่อสร้างหลุมจอด 28 หลุมจอดพร้อมอุโมงค์ลอดใต้ลานจอดอากาศยาน เพื่อเตรียมรองรับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านเหนือ โดยให้ ทอท.เตรียมเรื่องการออกแบบอาคาร เพื่อการใช้งานในลักษณะ Multi Function Terminal"มติ คณะกรรมการ AOT ระบุ
สำหรับโครงการตามแผนงานเดิมที่จะมีการสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองนั้น ให้ทบทวนการใช้วัสดุตกแต่งที่เหมาะสมและประหยัดเพื่อให้เป็นไปตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคตร.โดยในการพัฒนาต้องพิจารณาการจัดลำดับความจำเป็นก่อนหลังเพื่อให้มีการใช้งบประมาณที่เหมาะสมและไม่ทำให้ ทอท.ขาดสภาพคล่อง ทั้งนี้ ให้ ทอท.จัดทำรายละเอียดของโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และนำเสนอคณะกรรมการ ทอท.พิจารณาเพื่อนำเสนอต่อ รมว.คมนาคม และคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
นอกจากนั้น คณะกรรมการ ทอท.เห็นชอบการแต่งตั้งคณะพิจารณาการใช้ประโยชน์เขตปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) โดยมี นาวาอากาศตรีประจักษ์ สัจจโสภณ เป็นประธานอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ศึกษาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางอากาศของภูมิภาคเอเชีย ศึกษาปัญหาและอุปสรรคและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาการดำเนินการของเขตปลอดอากรและคลังสินค้า ทสภ. รวมทั้งกำหนดแผนในการพัฒนาพื้นที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ทสภ.เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศของภูมิภาคเอเชีย
พร้อมกันนั้น ยังรับทราบรายงานปริมาณการจราจรทางอากาศปีงบประมาณ 2557 (ต.ค.56-ก.ย.57) ณ ท่าอากาศยาน 6 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศหาดใหญ่ (ทหญ.) มีเที่ยวบินรวม 609,937 เที่ยวบิน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.03 แบ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ 285,145 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.18 เที่ยวบินระหว่างประเทศ 324,792 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 มีจำนวนผู้โดยสารรวม 87,572,416 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.67 แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 36,376,926 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 51,195,490 คน ลดลงร้อยละ 5.66
ทั้งนี้ ทสภ.มีปริมาณการจราจรทางอากาศปริมาณร้อยละ 48 ของทั้งหมด มีเที่ยวบินขึ้นลง 292,932 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.71 ผู้โดยสาร 46,497,257 คน ลดลงร้อยละ 8.65 รองลงมาคือ ทดม.มีเที่ยวบิน 161,831 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 ผู้โดยสาร 19,349,941 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.33 ส่วน ทชม.มีการใช้บริการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก คือ มีเที่ยวบินรวม 49,679 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.30 ผู้โดยสาร 6,213,446 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.12 ในขณะที่ ทหญ.มีเที่ยวบินจำนวนรวม 20,965 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.92 ผู้โดยสาร 2,944,259 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.42 ส่วน ทชร.มีเที่ยวบิน 10,029 เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.73 ผู้โดยสาร 1,291,708 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.57