สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (13 – 17 ตุลาคม 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 436,552 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 87,310 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 15% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 65% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 285,280 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 116,468 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 8,169 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 4.7 ปี) LB176A (อายุ 2.7 ปี) และ LB236A (อายุ 8.7 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 36,755 ล้านบาท 22,961 ล้านบาท และ 15,118 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB15115B (อายุ 91 วัน) BOT177A (อายุ 2.8 ปี) และ BOT171A (อายุ 2.3 ปี) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 28,572 ล้านบาท 27,485 ล้านบาท และ 22,695 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของธนาคาร เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) รุ่น KK157A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 521 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รุ่น CPALL18OB (A+) มูลค่าการซื้อขาย 367 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT155A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 339 ล้านบาท
ราคาของพันธบัตรอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือผู้ซื้อจะได้ผลตอบแทน (Yield) ลดลง ประมาณ 0.10% - 0.15% ตามทิศทางของพันธบัตรสหรัฐฯ (US Treasury) หลังนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเขตยุโรโซนอย่างฝรั่งเศลที่เพิ่งถูก S&P ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือจาก Stable เป็น Negative Outlook ประกอบกับตัวเลขความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ในเดือน ต.ค. ที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 0 เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ พ.ย. 55 ยิ่งตอกย้ำความอ่อนแอของเศรษฐกิจยูโรโซนชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ประเทศเศรษฐกิจหลักในแถบเอเชียอย่างจีนก็เริ่มมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง นักลงทุนจึงปรับลดพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลง และเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น US Treasury มากขึ้น ส่งผลให้ราคา US Treasury เพิ่มขึ้น และมีส่วนทำให้ราคาของพันธบัตรไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 1,176 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 1,645 ล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,820 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดซื้อสุทธิ 69 ล้านบาท