ทั้งนี้ เอกชนมีแนวโน้มที่จะระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทิศทางของดอกเบี้ยภายในประเทศที่ไม่น่าจะปรับสูงขึ้นในเร็วๆนี้ ส่งผลให้ภาคเอกชนอาจจะตัดสินใจระดมทุนเพื่อให้มีต้นทุนที่คงที่ในช่วงที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับนโยบายการลงทุนภาครัฐฯที่เริ่มขัดเจนขึ้น
ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ระยะสั้นนั้นเชื่อว่าจะคงที่ไปจนถึงช่วงไตรมาส 1/58 เนื่องจากการส่งออกของไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ตามเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวช้า ขณะที่การท่องเที่ยวของไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และการบริโภคภาคครัวเรือนยังต่ำ จากระดับหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ระยะสั้นอาจจะมีการปรับขึ้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงไตรมาส 2/58
ส่วนอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ระยะยาวมีการปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่มีการเติบโตได้อย่างช้าๆ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้คาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย US Treasury น่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงคาดว่าการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของไทย จะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในช่วงไตรมาส 2/58
ด้านทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อไป โดยการขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุดน่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2/58 เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจยังไม่เอื้อ หลังการส่งออก การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น การบริโภคยังต่ำ และหนี้ครัวเรือนยังสูง
นายธาดา กล่าวต่อถึงความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทยว่า ทั้งปีเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติจะไหลเข้าสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทย แม้ว่าจะมีข่าวธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ทำให้เงินลงทุนจากต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ระยะยาว แต่เมื่อรัฐบาลประกาศโรดแมพส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าอีกครั้ง โดย 4 เดือนหลังประกาศโรดแมพมีเงินไหลเข้าสุทธิตราสารหนี้ระยะยาวแล้ว 65,813 ล้านบาท แต่เงินไหลออกสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,275 ล้านบาท ส่วนในช่วง 9 เดือนแรกของปี เงินทุนต่างประเทศไหลออกสุทธิ 5,410 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินไหลออกสุทธิจากตราสารหนี้ระยะยาว 19,865 ล้านบาท และเงินไหลเข้าสุทธิตราสารหนี้ระยะสั้น 14,455 ล้านบาท