“เรื่องนี้ทำให้เราตั้งตัวไม่ทันและต้องเสียเวลาเป็นอย่างมากในการสรรหาผู้สอบบัญชีรายใหม่และทำให้ประสบปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้หุ้นของบริษัทฯ ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เป็นเวลานานหลายช่วงเวลาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้
สำหรับงบการเงินประจำปี 2556 นั้น บริษัทฯ ได้ส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีรายล่าสุด คือ บริษัท เอเอสวี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด (ASV) ซึ่งได้ตั้งข้อสงสัยและไม่ให้ความเห็นในงบการเงินกว่า 10 ประเด็น ซึ่งล่าสุด ทาง LVT ได้ยื่นหนังสือชี้แจงข้อสงสัยของผู้สอบบัญชีในทุกประเด็นทั้งหมด 13 ประเด็นให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบแล้ว
ตลอดระยะเวลาที่ทำงานร่วมกับ ASV ประสบปัญหาเป็นอย่างมาก เราขอยืนยันว่า แม้ที่ผ่านมา LVT จะประสบปัญหาด้านบุคลากรด้านบัญชีของบริษัทฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ทางฝ่ายจัดการของ LVT ได้ให้ความสำคัญและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เต็มความสามารถและสนับสนุนทุกอย่างในการปฏิบัติภารกิจของ ASV ตลอดมา ไม่เคยเพิกเฉยในสิ่งที่ผู้สอบบัญชีร้องขอหรือแนะนำ
สำหรับประเด็นข้อสงสัยที่บริษัทผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินนั้น ข้อสงสัยหลายประเด็นที่ ASV ได้หยิบยกขึ้นมาสอบถามนั้น ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรายเดิม และบริษัทฯ จัดส่งให้ ก.ล.ต. ก่อนหน้านั้นแล้ว
นายวิชัย ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทผู้สอบบัญชีมีเพียง 25 แห่ง มีผู้สอบบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. เพียง 180 คน ในขณะที่จำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมากถึงเกือบ 700 แห่งในปัจจุบัน แต่ผู้สอบบัญชีมีจำนวนลดลง มีผลทำให้พวกเราที่เป็น บริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กอยู่ในฐานะต้องรับเคราะห์กรรม หาผู้สอบบัญชีลำบากและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงขอร้องเรียนให้ผู้ที่รับผิดชอบช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนผู้สอบบัญชีโดยเร่งด่วน เนื่องจากเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดทุน ที่ควรได้รับการแก้ไข เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากบริษัทจดทะเบียนที่มีจำนวนมากขึ้น ด้วยการเพิ่มจำนวนผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว
นายปัญญา กฤติยาวงศ์ กรรมการผู้จัดการ LVT กล่าวชี้แจงว่า ผลประกอบการของ LVT ประจำปี 2556 มีตัวเลขขาดทุน 192.09 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2555 ที่มีผลขาดทุน 414.41 ล้านบาท โดยสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลประกอบการในปี 2556 ขาดทุนสืบเนื่องจากมีรายการค่าปรับการทำโครงการล่าช้า ที่บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายสูงถึง 160.09 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากบริษัทฯ เริ่มมีปัญหาเงินทุนหมุนเวียนหลังจากที่ไม่สามารถเพิ่มทุนได้ ทำให้ประสิทธิภาพการบริหารโครงการขนาดใหญ่ลดลง ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อขอความเห็นชอบในงบการเงินปี 2556 ดังกล่าว
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2556 บริษัทฯ มีมูลค่างานในมือ (Backlog) จำนวน 3,040 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ประมาณภายใน 2-3 ปี โดยกล่าวยืนยันว่า บริษัทฯ ยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจทางด้านปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานปูนซีเมนต์ ตลอดจนการบำรุงรักษาเครื่องจักรและกระบวนการผลิตในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับชิ้นส่วนและอะไหล่ ขณะที่การประมูลงานใหม่ๆ ก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง แต่จะมุ่งเน้นโครงการขนาดกลางที่บริษัทฯ มีขีดความสามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี