ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 252,155 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 27, 2014 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (20 – 24 ตุลาคม 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 252,155 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 63,039 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 28% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 69% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 173,560 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 61,551 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 2,825 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB21DA (อายุ 7.2 ปี) LB236A (อายุ 8.7 ปี) และ LB196A (อายุ 4.7 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 23,750 ล้านบาท 10,242 ล้านบาท และ 8,060 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB15122B (อายุ 90 วัน) CB14O30A (อายุ 6 วัน) และ CB15423A (อายุ 181 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 20,514 ล้านบาท 14,101 ล้านบาท และ 11,620 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด รุ่น ICBCTL159A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 281 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) รุ่น LH153A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 242 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด รุ่น MPSC249A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 206 ล้านบาท

ราคา (Price) ของพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย หรือผู้ซื้อจะได้ผลตอบแทน (Yield) ลดลง ประมาณ 0.01% - 0.02% หากเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า (22 ต.ค.) ถึงแม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เศรษฐกิจไทยอาจเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะซบเซา (Stagnation) แต่ในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้างแล้ว ขณะที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) มองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของภาคครัวเรือน อาจไม่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากนัก เพราะปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ถึงแม้จะมีการลดดอกเบี้ยแต่ความต้องการบริโภคก็จะเกิดขึ้นไม่มาก สิ่งที่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ดีในขณะนี้ คือการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีความพร้อมด้านการลงทุนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับทิศทางดอกเบี้ยในประเทศที่ยังไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้ ทำให้นักลงทุนต่างประเทศยังทยอยเข้าลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมกกว่า 1 ปี) อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 – 24 ต.ค.) นักลงทุนต่างประเทศถือครองตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้น 4,660 ล้านบาท จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 601,490 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 606,150 ล้านบาทในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ นักลงทุนต้องติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 – 29 ต.ค. โดยเฉพาะเรื่องความชัดเจนในการยุติมาตรการ QE และการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต ซึ่งจะมีผลต่อการไหลเข้า-ออกของเงินทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยสำหรับช่วงเวลาถัดไปด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ