การที่กองทุนสามารถนำทรัพย์สินเสาโทรคมนาคมออกให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นนอกจากกลุ่มทรูเช่าใช้ได้นั้น ทำให้กองทุนมีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ลงทุนได้มากขึ้น และยังส่งผลดีกับธุรกิจโทรคมนาคมโดยรวมในเชิงการลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน ซึ่งการที่ดีแทคมาเช่าเสากับทางกองทุน จะส่งผลให้กองทุนมีความเสี่ยงลดลงจากการพึ่งพาผู้เช่ารายเดียวและในปัจจุบันกลุ่มดีแทคก็มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดี ขณะที่กลุ่มทรูก็ได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือให้สูงขึ้นจากการปรับอันดับของมูดีส์ อีกด้วย
ทั้งนี้ TRUEIF เตรียมที่จะจ่ายเงินปันผลในไตรมาส 3 ปี 2557 ในอัตรา 0.2603 บาทต่อหน่วย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเงินปันผลทั้งสิ้น 1,511 ล้านบาท ทั้งนี้เงินปันผลจำนวน 0.2313 บาทต่อหน่วยมาจากกำไรสุทธิที่ปรุงแล้วประจำไตรมาส และกระแสเงินสดรับจากรายได้ค่าเช่าล่วงหน้า และ 0.029 บาทต่อหน่วยจากเงินสดสำรองคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยเพราะค่าใช้จ่ายของกองทุนต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ โดยมีกำหนดการจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557
โดยนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน TRUEIF ได้มีการจ่ายเงินปันผลไปแล้ว 2 ครั้ง คือไตรมาส ที่1/2557 และไตรมาส 2/2557 ซึ่งเมื่อรวมกับเงินปันผลในไตรมาส 3/2557 จะทำให้จำนวนเงินปันผลที่กอง TRUEIF ได้จ่ายในปีนี้รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 0.7184 บาทต่อหน่วย โดยคิดเป็นเงินปันผลจากการดำเนินงานของปี 2556 จำนวน 0.0240 บาทต่อหน่วย และของปีนี้รวม 0.6944 บาทต่อหน่วย
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างกลุ่มดีแทค ตกลงเช่าเสาโทรคมนาคมภายใต้กรรมสิทธิ์ของ TRUEIF ร่วมกับ กลุ่มทรูซึ่งเป็นผู้เช่ารายแรกนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับ Infrastructure Sharing ในประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ กสทช.สนับสนุนให้เกิดขึ้นเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนของผู้ประกอบการ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง และเป็นการปิดกั้นให้เกิดการเปิดเสรีของธุรกิจ การที่กองทุนปล่อยเช่าเสาโทรคมนาคมให้แก่ผู้ประกอบการรายใดก็ได้ จะช่วยเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการเร่งพัฒนาคุณภาพบริการได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาลงทุนสร้างเสาโทรคมนาคม นอกจากนี้ยังช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทัศนียภาพดีขึ้น ลดความสิ้นเปลืองทรัพยากรของชาติ เนื่องจากหากไม่มีการร่วมใช้เสาโทรคมนาคม ผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องสร้างเสาในตำแหน่งที่ใกล้กันโดยไม่จำเป็น และไม่สามารถนำเสาแต่ละเสามาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
นายคาลิต ชีซาร์ท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยีของ DTAC กล่าวว่า บริษัทฯได้เล็งเห็นถึงประโยชน์จาก Infrastructure Sharing โดยการเซ็นสัญญาครั้งแรกนี้ จะเป็นการเช่าเสาในเบื้องต้นเป็นจำนวน 115เสา ซึ่งในปีหน้าคาดว่าจะมีการเช่าเสาจาก TRUEIF เพิ่มเติมอีก โดยผลจากการสำรวจพื้นที่ตั้งเสา (Location Mapping) พบว่าอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกับความต้องการของ DTAC มากกว่า 500 จุดจากจำนวนเสาทั้งหมด 3,000 ต้นแรกที่กลุ่ม ทรู จะส่งมอบให้กองทุนภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งช่วยให้ดีแทคสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากการที่ไม่ต้องสร้างเสาโทรคมนาคมเอง นอกจากนี้ยังส่งผลให้การขยายบริการเครือข่าย 3G ของดีแทคครอบคลุมและรวดเร็วมากขึ้น
ด้านนายทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทเลคอม แอสเซท แมเนจเมนท์ จำกัด (TAM) บริษัทย่อยของกลุ่มทรู ซึ่งทำหน้าที่ด้านการตลาดในการหาผู้เช่าทรัพย์สินโทรคมนาคมเพิ่มเติมให้กับ TRUEIF กล่าวว่า ขณะนี้ทรัพย์สินโทรคมนาคมที่กองทุนมีทั้งหมด TAM สามารถหาผู้เช่าเสาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งรายนอกเหนือจากกลุ่มทรู ซึ่งเป็นผู้เช่าเดิม โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้กองทุนจะมีเสาโทรคมนาคมที่พร้อมให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นเช่าใช้เป็นจำนวน 3,000 เสา และจะขยายเพิ่มเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,000 เสาภายในสิ้นปีหน้า นอกจากทรัพย์สินโทรคมนาคมประเภทเสาแล้ว กองทุนยังมีทรัพย์สินโทรคมนาคมประเภทอื่น เช่น ระบบใยแก้วนำแสงหลัก (ระบบ FOC) ความยาว 5,112 กิโลเมตร และระบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด จำนวน 1.2 ล้านพอร์ต สำหรับในช่วงนี้ทาง TAM จะเน้นการหาผู้เช่าร่วมสำหรับเสาโทรคมนาคมเป็นหลักเนื่องจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2100 MHz อีกสองรายซึ่งได้แก่ กลุ่มดีแทค และกลุ่มเอไอเอส กำลังทำการขยายโครงข่ายเพื่อรองรับการเติบโตของบริการ 3G