งานก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยาย เพื่อใช้เป็นถนนเชื่อมต่อในเขตปฏิบัติการบิน รวมถึงงานระบบไฟฟ้าเครื่องกลภายในอุโมงค์ และรองรับระบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เพื่อจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคให้กับงานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน และอุโมงค์ ประกอบด้วย ระบบไฟฟ้าแรงสูง 115 kV สถานีไฟฟ้าหลักหลังที่ 2 (MTS2) ระบบจำหน่ายไฟฟ้า 24 kV และสถานีไฟฟ้าย่อยระบบจำหน่าย ระบบประปา ระบบน้ำเสีย และระบบการจัดการขยะ
ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2560
พร้อมทั้ง โครงการก่อสร้างทางวิ่งสำรอง ทสภ. เนื่องจากมีแผนดำเนินการปิดทางวิ่งปัจจุบันเพื่อซ่อมบำรุงทางวิ่ง โดยเฉพาะทางวิ่งฝั่งตะวันออกที่มีปริมาณการขึ้นลงของอากาศยานสูงกว่าที่เคยประมาณการไว้ ดังนั้นหาก ทสภ. มีทางวิ่งเพื่อใช้งานสำรอง ทดแทนในกรณีที่ ทสภ.ต้องดำเนินการปิดซ่อมทางวิ่งปัจจุบัน ก็จะทำให้ ทสภ. ดำเนินการซ่อมแซมทางวิ่งปัจจุบันได้โดยไม่ลดขีดความสามารถในการรองรับอากาศยาน และไม่เกิดความแออัดในการขึ้นลงของอากาศยาน
ทอท.ได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) สำหรับการก่อสร้างทางวิ่งความยาว 3,700 เมตรแล้ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.57 แต่จากเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมีระบบทางวิ่งเพิ่มเพื่อใช้ทดแทนสำรองตามที่กล่าวมานั้น ทอท.จึงเสนอแนวทางการก่อสร้างทางวิ่งสำรองความยาว 2,900 เมตร ให้แล้วเสร็จในปี 60 ซึ่งในระหว่างนั้น ทอท.ก็จะนำผลการศึกษา EHIA เสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการของ สผ. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาโดยดำเนินการคู่ขนานกันไป เมื่อผลการศึกษา EHIA ได้รับความเห็นชอบแล้ว ทอท.จึงจะดำเนินการก่อสร้างทางวิ่งให้สามารถใช้งานได้ที่ความยาว 3,700 เมตร พร้อมทั้งดำเนินการก่อสร้าง Perimeter Taxiwayแล้วเสร็จในปี 62
รวมทั้ง โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทสภ. บริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A โดยจะสร้างอาคารผู้โดยสารพื้นที่ประมาณ 214,000 ตารางเมตร ให้บริการทั้งผู้โดยสารภายในประเทศ ผู้โดยสารระหว่างประเทศ และพื้นที่สำนักงานสายการบิน พร้อมทั้งสายพานลำเลียงสัมภาระเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก กับระบบสายพานลำเลียงสัมภาระปัจจุบัน บริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A พร้อมทั้งปรับปรุงลานจอดอากาศยานให้สอดคล้องกับอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ และดำเนินการปรับปรุงหลุมจอดอากาศยาน และอาคารเทียบเครื่องบิน A หรือ/และ B ในปัจจุบันให้สามารถรองรับอากาศยาน A 380 ได้
และ ก่อสร้างระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างอาคารเทียบเครื่องบิน A อาคารผู้โดยสารหลักปัจจุบัน ไปยังอาคารผู้โดยสารที่ก่อสร้างใหม่เชื่อมต่อการเดินทางของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 กับสถานีรถไฟฟ้า Airport Rail link , ก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ทางด้านทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่อาคาร 84,000 ตารางเมตร สามารถจอดรถยนต์ได้ประมาณ 2,500 – 3,000 คัน
นอกจากนั้น จะสร้างระบบถนนภายในท่าอากาศยานเส้นทางเข้าออกอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และสร้างระบบสาธารณูปโภคภายในเพิ่มเติม รวมทั้งจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา ประกอบด้วย สาระสำคัญคือ ความเป็นมา รายละเอียดของโครงการ สภาพแวดล้อมปัจจุบัน การประเมินทางเลือกในการดำเนินการ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การเสนอมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบ และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบ
ทั้งนี้ เมื่อการดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทสภ. แล้วเสร็จ ทสภ. จะมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 65 ล้านคนต่อปี โครงการดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 61
ส่วนงานโครงการพัฒนา ทสภ. ปีงบประมาณ 2554-2560 ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม. และยังไม่ได้ดำเนินการ ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 งานขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก และงานก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์และอาคารสำนักงาน ทอท. จะได้พิจารณาทบทวนรูปแบบ และการก่อสร้างให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการดำเนินการตามแนวทางที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้ให้ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะไว้ โดยพิจารณาประกอบกับปริมาณการจราจรทางอากาศ และขีดความสามารถในการให้บริการผู้โดยสารของ ทสภ. ในอนาคต รวมทั้ง ความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน และมิให้เกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องของ ทอท.ในระยะยาวอีกด้วย ทั้งนี้ ทอท.จะได้รายงานแนวทางการดำเนินการดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมทราบต่อไป