"เราคาดว่าจะแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น IPO รวมถึงการจำหน่ายหุ้น IPO ได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม และคาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ในช่วงกลางเดือนธันวาคมปีนี้ อย่างไรก็ตามขึ้นกับระยะเวลาการพิจารณาเอกสารไฟลิ่งของทาง ก.ล.ต."นายเชิดศักดิ์ กล่าว
ณ วันที่ 30 มิ.ย.57 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 401,200,000 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญจำนวน 401,200,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท และเรียกชำระแล้วจำนวน 310,550,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 310,550,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
ทั้งนี้ บริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 89.45 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 22.36 ของทุนชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ โดยแบ่งเป็นจำนวนไม่เกิน 50,390,435 หุ้น เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ.ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY) ตามสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละรายที่ถืออยู่ใน TPOLY (Pre-Emptive Right) ส่วนที่เหลืออีก 39,059,565 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 9.76 ของจำนวนหุ้นสามัญที่เรียกชำระแล้วทั้งหมดจะเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งบริษัทมีแผนจะนำเงินไปใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายรายได้ที่ 220-260 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าชีวมวลที่บริษัทถือหุ้นอยู่และสามารถขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้แล้ว คือ บริษัท ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ จำกัด ขนาดกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ตั้งแต่เดือน มี.ค.57 ซึ่งทำรายได้ราว 2 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์
ส่วนในปี 58 บริษัทจะมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มเป็น 40 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมาจากโรงไฟฟ้าจำนวน 4 โรง ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 10 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าของ บริษัท ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ จำกัด, โรงไฟฟ้าของ บริษัท มหาชัย กรีนเพาเวอร์ จำกัด, โรงไฟฟ้าของบริษัท ทุ่งสัง กรีน จำกัด และโรงไฟฟ้า ของ บริษัท แม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ จำกัด ซึ่งจะเริ่มทยอยจำหน่ายไฟฟ้าในอีก 3 โรงที่เหลือในปีหน้าและจะรับรู้รายได้เข้ามาเต็มที่ในปี 59
จากนั้นในปี 60 บริษัทตั้งเป้าจะมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 100 เมกะวัตต์ ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 3 แห่งในเฟสที่ 2 ได้แก่ โรงไฟฟ้า พัทลุง กรีน เพาวเวอร์ ขนาด 10 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้า ปัตตานี กรีน ขนาด 40 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า สตูล กรีน เพาเวอร์ ขนาด 10 เมกะวัตต์ เป็นต้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 70-75 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์