สำหรับปริมาณการขายในไตรมาส 3 นี้ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 325,248 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วที่ 286,578 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ปริมาณที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย และโครงการซอติก้า ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยลดลงเป็น 65.15 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/56 ที่ 65.71 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ส่วนกำไรจากรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานปกติ (Non-Recurring) จำนวน 51 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้น 85 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นผลมาจากกำไรจากอนุพันธ์ทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการ market-to-market ของสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันเนื่องจากราคาซื้อขายล่วงหน้า (forward price) ณ วันที่ 30 ก.ย.57 ลดลง หากแยกกำไรสุทธิ จำนวน 477 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่า 15,284 ล้านบาท) ตามส่วนงาน สามารถแบ่งได้ดังนี้ กำไรจากการดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย จำนวน 381 ล้านดอลลาร์ สรอ. กำไรจากการดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในต่างประเทศ จำนวน 9 ล้านดอลลาร์ สรอ. กำไรจากการดำเนินงานส่วนงานท่อขนส่งก๊าซ จำนวน 88 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดทุนสุทธิของส่วนงานสำนักงานใหญ่และอื่น ๆ จำนวน 1 ล้านดอลลาร์ สรอ.
รายได้รวมของ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยในไตรมาสนี้มีจำนวน 2,093 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 67,114 ล้านบาท) เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/56 จำนวน 1,840 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 57,942 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 253 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นร้อยละ 14
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานงวดเก้าเดือนของ ปตท.สผ.ในปีนี้ มีกำไรสุทธิ 1,417 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 45,905 ล้านบาท)
นายเทวินทร์ กล่าวว่า แนวโน้มภาพรวมธุรกิจของ ปตท.สผ. ในไตรมาส 4/57 ปตท.สผ.คาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท ยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยลบมาจากปริมาณน้ำมันดิบที่คาดว่ายังคงมีมากในตลาดจากการผลิตของลิเบียกลับมาผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น และความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันดิบอีกครั้ง หากสามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจาด้านนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและ 6 ชาติมหาอำนาจในเดือน พ.ย.นี้ ประกอบกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน ที่ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่องส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในแง่บวกมีปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในฤดูหนาว รวมถึง โอเปคอาจจะปรับลดกำลังการผลิตสำหรับปี 2558 ในระหว่างการประชุมเดือน พ.ย.นี้
ปตท.สผ. มีผลิตภัณฑ์หลัก คือ ก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นประมาณร้อยละ 67 ของปริมาณการขายทั้งหมด โดยราคาขายก๊าซธรรมชาติอ้างอิงราคาน้ำมันประมาณร้อยละ 30-50 และมีการปรับราคาตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ของแต่ละโครงการในทุก ๆ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ทำให้แนวโน้มการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในระยะสั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาก๊าซฯมากนัก ส่วนน้ำมันดิบและคอนเดนเสท คิดเป็นประมาณร้อยละ 33 ของปริมาณการขายทั้งหมด ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน โดยการทำอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันสำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของกลุ่มบริษัท โดยใช้ราคาน้ำมันดิบแบรนท์เป็นราคาอ้างอิง สำหรับไตรมาสที่ 4 นี้ ปตท.สผ. ได้ทำอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณการขายน้ำมันและคอนเดนเสท
นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ปตท.สผ. ได้เริ่มโครงการ “SAVE … to be SAFE" โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการบริหารการใช้จ่ายและการลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพเต็มที่ ซึ่งจะรวมถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงาน การลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นในระยะสั้น และ มีการทบทวนแผนงานและงบประมาณให้สอดคล้องกัน
“ในปี 57 จากแผนงานและผลการดำเนินงานที่ผ่านมา บริษัทคาดว่าปริมาณการขายจะเติบโตโดยรวมที่ประมาณร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่มาจากโครงการซอติก้า และการเข้าซื้อกิจการ Hess Thailand ในช่วงครึ่งปีแรกของปี ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ ปตท.สผ. มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงปี 58" นายเทวินทร์ กล่าว
ความก้าวหน้าในโครงการที่สำคัญของ ปตท.สผ. ในไตรมาส 3/57 ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีโครงการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย และต่างประเทศ รวม 45 โครงการ ใน 11 ประเทศ โดยความก้าวหน้าของโครงการหลัก ๆ ได้แก่ โครงการในประเทศไทย มีทั้งหมด 18 โครงการ ซึ่งโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ดำเนินการผลิตแล้ว ทั้งในอ่าวไทยและบนบก ซึ่งสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี มีบางโครงการที่มีการหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อซ่อมบำรุงตามแผน เช่น แหล่งบงกชใต้ โครงการคอนแทร็ค 4 และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย-บี17
โครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทั้งหมด 16 โครงการ โดย โครงการซอติก้า ได้เริ่มส่งก๊าซธรรมชาติและขายให้แก่ ปตท. เพื่อใช้ในประเทศไทยตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เมื่อรวมกับก๊าซฯที่ส่งให้ Myanma Oil and Gas Enterprise: MOGE เพื่อใช้ภายในประเทศเมียนมาร์ ทำให้โครงการซอติก้ามีปริมาณการผลิตโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 345 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นอกจากนี้ โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมประเมินผลเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมและรักษาการผลิตในระยะยาว
สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจ เช่น โครงการเมียนมาร์ เอ็ม 3 ได้เริ่มดำเนินการเจาะหลุมประเมินผลเพิ่มเติมตามแผนงาน โครงการเมียนมาร์ พีเอสซี จี และอีพี 2 อยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างทางธรณีวิทยา และได้มีการเจาะหลุมสำรวจตามแผนงาน นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับ Myanma Oil and Gas Enterprise: MOGE เพื่อรับสิทธิในการดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจบนบก MOGE 3 ด้วยสัดส่วนการร่วมทุนร้อยละ 85 และเป็นผู้ดำเนินการ
โครงการในออสตราเลเซีย มี 1 โครงการ ในประเทศออสเตรเลีย คือ โครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย ในไตรมาสนี้ แหล่งมอนทารา มีหยุดการผลิตชั่วคราวประมาณ 20 วัน ตามแผนการซ่อมบำรุงประจำปี ปัจจุบัน ได้กลับมาผลิตตามปกติแล้ว โดยคาดว่าปริมาณการผลิตโดยเฉลี่ยในปี 57 จะอยู่ที่ประมาณ 17,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนแหล่ง Cash Maple ได้เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจ แต่ไม่พบศักยภาพเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้ตัดจำหน่ายหลุมแล้วในไตรมาสนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบทางวิศวกรรม รวมทั้ง แนวทางการพัฒนาโครงการ นอกจากนี้ บริษัทได้ทำการคืนสิทธิในแปลงสัมปทานเอซี/พี 4 หลังจากที่เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจ แต่ไม่พบศักยภาพเชิงพาณิชย์
โครงการในทวีปอเมริกา มี 3 โครงการ ในประเทศแคนาดา และสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล โดย โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ คาดว่าจะเริ่มการเจาะสำรวจในไตรมาสที่ 4 นี้ และอยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED) รวมทั้ง แนวทางในการพัฒนาโครงการ Thornbury Phase 1 ส่วนการลงทุนในประเทศบราซิล ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาเพื่อเข้าซื้อสัดส่วนร้อยละ 20 ในแปลงสัมปทาน BM-ES-23 นอกชายฝั่งน้ำลึกของประเทศบราซิล จากบริษัท Shell Brasil Petroleo Ltda โดยจะมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลบราซิล
โครงการในแอฟริกาและตะวันออกกลาง มี 7 โครงการ ในประเทศโอมาน แอลจีเรีย โมซัมบิก และเคนยา โครงการแอลจีเรีย 433 เอ และ 416 บี อยู่ระหว่างการก่อสร้างกระบวนการผลิตและระบบท่อขนส่ง คาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตได้ภายในปลายปี 57 ที่อัตราการผลิตประมาณ 20,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนโครงการโมซัมบิก โรวูม่า ออฟชอร์ แอเรีย วัน มีแผนการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผล เพื่อค้นหาและประเมินศักยภาพเพิ่มเติม ปัจจุบันเสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม ซึ่งอยู่ในระหว่างการประเมินผล และมีแผนที่จะเจาะหลุมประเมินในไตรมาส 4 ปีนี้
สำหรับการพัฒนาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นั้น ได้ดำเนินการตามแผนการพัฒนาทางวิศวกรรมพื้นที่ก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตและขาย LNG ครั้งแรกได้ในปี 62 โครงการเคนยา แปลงแอล 10 เอ เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจ แต่ไม่พบศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยได้ทำการตัดจำหน่ายหลุมในไตรมาสนี้ โดยจะนำผลของการสำรวจไปใช้ประโยชน์ทางธรณีวิทยาต่อไป