BA ลั่นโตก้าวกระโดดรับเปิด AEC เพิ่มพันธมิตร Code Share-เปิดจุดบินจีน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 31, 2014 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ(BA) เปิดเผยว่า บริษัทตัดสินใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) เพราะเล็งเห็นความสำคัญของโอกาสในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ที่จะเกิดขึ้นปลายปี 58 เป็นจังหวะที่ดีที่บริษัทฯจะขยับขยายเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและรองรับการเติบโตในอนาคต
"เหตุผลหลักที่นำบริษัทฯเข้าตลาดหลักทรัพย์ เราเห็นโอกาสการที่ไทยจะเข้า AEC ปลายปีหน้า เราก็มองว่าการที่จะเปิดลักษณะนี้การเดินทางน่าจะสะดวกมากขึ้น ข้อจำกัดในหลายๆประเทศก็จะมีน้อยลง เช่น เรื่องของวีซ่า โดยประชาชนของแต่ละประเทศจะมีอิสระในการทำงานมากขึ้น อาจเป็นไปได้ที่คนไทยจะไปทำงานอยู่ที่พม่า ลาว ซึ่งจะมีการเดินทางมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องการท่องเที่ยวที่สามารถปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางให้ง่ายขึ้น เราก็มองว่าตรงนี้น่าจะเป็นโอกาสที่จะขยับขยาย เพื่อรองรับในปลายปีหน้า และเป็นโอกาสเหมาะที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์"นายพุฒิพงศ์ ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"

บริษัทจะนำเงินจากการระดมทุนผ่านการขายหุ้น IPO จำนวน 520 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 25 บาท ซึ่งคาดว่าจะได้เม็ดเงินประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท มีเป้าหมายหลักเพื่อปรับปรุงและขยายฝูงบินเพิ่มเป็น 43 ลำในช่วง 5 ปี(ปี 58-61)จากปัจจุบัน 26 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินแอร์บัส 319 และแอร์บัส 320 จำนวน 18 ลำ และ เครื่องบิน ATR จำนวน 8 ลำ ที่จะทยอยปลดระวางเครื่องเก่า และนำเครื่องใหม่เข้ามาทดแทน โดยได้สั่งเครื่องบิน ATR ใหม่ 9 ลำ และกำลังคัดเลือกเครื่องบินgeneration ใหม่ที่จะช่วยประหยัดน้ำมันได้ถึง 20% ซึ่งระหว่างนี้เจรจาทั้งทางแอร์บัสและโบอิ้งคาดว่าจะได้ข้อสรุปต้นปีหน้า

ทั้งนี้งบลงทุนที่จะใช้ในการขยายฝูงบินจะใช้เงินจำนวน 300 ล้านเหรีญสหรัฐฯ หรือประมาณ 9,000 ล้านบาท จัดซื้อเครื่องยนต์ อะไหล่และอุปกรณ์สำรองสำหรับฝูงบินที่เพิ่มขึ้นจำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อสร้างโรงซ่อมอากาศยานที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจำนวน 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติสมุยจำนวน 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหรือ 4 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันมีผู้โดยสารอยู่ที่ 2 ล้านคน/ปี อย่างไรก็ตามบริษัทฯมีแผนขยายสนามบินสมุย เพื่อรองรับการเติบโตไปอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งตั้งเป้าหมายผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 6 ล้านคน/ปี

*ปี 58 คาดโตก้าวกระโดดตาม AEC

นายพุฒิพงศ์ คาดว่าในปี 58 รายได้ของบริษัทจะเติบโตก้าวกระโดดแบบ Aggresive และอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ขึ้นไปแตะที่ 70% จากปี 57 ที่คาดว่ารายได้จะเติบโตใกล้เคียงเป้าหมายที่ 17-18% เช่นเดียวกับปี 55-56 ซึ่งปีที่แล้วมีรายได้รวม 2.07 หมื่นล้านบาท และ Cabin Factor เฉลี่ยที่ 65% ต่ำกว่าเป้าหมาย 67-68% ขณะที่จำนวนผู้โดยสารปีนี้น่าจะเติบโตได้ตามเป้าที่ 5 ล้านคน จากปีที่แล้วมีจำนวนผู้โดยสาร 4.1-4.2 ล้านคน สัดส่วนเป็นลูกค้าต่างประเทศราว 70-75%

ทั้งนี้ รายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจการบิน 80% และอีก 13% มาจาก 3 ธุรกิจที่ได้รับสัมปทานในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คือ บริการอาหาร(Catering) บริการภาคพื้น(Ground Handiling) และบริการคลังสินค้าระหว่างประเทศ(Cargo) ,ธุรกิจบริหารสนามบินมีสัดส่วนราว 2% โดยบริษัทเป็นเจ้าของ 3 สนามบิน คือสนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด ส่วนที่เหลิอมาจากเงินปันผลการลงทุนในหุ้นสามัญของบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) ประมาณ 7.83%

"จากโครงสร้างธุรกิจที่หลากหลายช่วยให้ผลประกอบการของ BA ไม่ผันผวนไปตามธุรกิจการบินมากนัก"นายพุฒิพงษศ์ กล่าว

นอกจากนี้บริษัทยังได้เพิ่มฮับการบินไปที่สนามบินเชียงใหม่ ซึ่งได้เปิดให้บริการเที่ยวบินใหม่ 4 เส้นทางในต.ค.นี้ ได้แก่ เชียงใหม่-อุดรธานี, เชียงใหม่ -ภูเก็ต, เชียงใหม่-ย่างกุ้ง และ เชียงใหม่-มัณฑะเลย์ นอกจากนี้เตรียมเปิดเส้นทางไปจีนที่จะใช้ฮับที่เชียงใหม่ โดยคาดว่าจะเปิดจุดบินใหม่ในจีนในปี 59 ได้แก่เมืองปักกิ่ง , เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น

*เพิ่มพันธมิตร Code Share

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ในปลายปีนี้ สายการบินบางกอกแอร์เวย์สจะมีพันธมิตรทำเที่ยวบินรหัสร่วม(Code Share) เพิ่มขึ้นอีก 3-4 ราย ได้แก่ การูด้าแอร์ไลน์ของอินโดนีเซีย , แอโรฟลอตของรัสเซีย, โคเรียนแอร์ของเกาหลี จากปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตร Code Share จำนวน 14 ราย รวมทั้งยังมีสายการบินที่ร่วมมือกันจำหน่ายตั๋วโดยสาร จำนวน 82 สายการบิน

การขยายพันธมิตร Code Share จะช่วยขยายจำนวนผู้โดยสารได้มากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ธุรกิจที่ทำให้บริษัทมีมาร์จิ้นได้ดีกว่าสายการบินอื่น เพราะไม่จำเป็นต้องลงทุนเครื่องบินแบบระยะไกล โดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์สามารถให้บริการเต็มรูปแบบจากเครือข่ายการบิน ตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้สายการบินบางกอกแอร์เวย์สมีมาร์จิ้นได้ดี ในปีที่ผ่านมาบริษัท มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (Available Seat - Kilometer: ASK)สูงขึ้น อยู่ที่ 1.54 เซ็นต์ สูงกว่าระดับเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินอยู่ที่ 0.5-0.7 เซ็นต์

"เราเชื่อว่าทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างน้อยมาร์จิ้นดี ...การวางเครือข่ายการบินตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างดี แม้ว่าการแข่งขันธุรกิจมีอยู่แต่เรามองว่ามีอีกมุมของตลาด เราไม่วางตัวเป็น low cost airline กลุ่มลูกค้าเราเป็นกลุ่มที่มาจาก Code Share กับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความสะดวกสบาย ต้องการความมั่นใจการเดินทาง"นายพุฒิพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ได้ปรับกลยุทธ์ที่จะสร้างพันธมิตร Code Share เมื่อปี 50 จนถึงวันนี้ เห็นว่าบริษัทได้เดินมาถูกทางแล้ว

นายพุฒิพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปีหน้าบริษัทมีโอกาสที่จะจ่ายเงินปันผลที่มีนโยบายจ่ายเงินปั้นผลไม่ต่ำกว่า 50%ของกำไรสุทธิ หลังจากที่บริษัทได้ล้างขาดทุนสะสมได้หมด โดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อนำส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่เหลืออยู่ประมาณกว่า 10,000 ล้านบาทมาล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ราว 3,900 ล้านบาทให้หมดภายในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ