รฟม.เตรียมผุดรถไฟฟ้าสีน้ำเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย4 คาดเปิดประมูลปี 59

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 3, 2014 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทสไทย(รฟม.)เปิดเผยว่า รฟม.ได้เตรียมดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค – พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 8 กม. ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระหว่างนี้อยู่ขั้นตอนการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด และจัดทำเอกสารประกวดราคาของโครงการดังกล่าว โดยได้ที่ปรึกษาในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า และจะใช้เวลาออกแบบ 8 เดือน จากนั้นจึงจะนำเสนอขออนุมัติโครงการ และเปิดประกวดหาผู้รับเหมาในงานก่อสร้างโครงการนี้ในปี 59 ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 60 คาดแล้วเสร็จในปี 64
"โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค – พุทธมณฑล สาย 4 มีความเหมาะสมที่จะดำเนินต่อเนื่อง เพราะได้พิจารณาเห็นว่า บนถนนเพชรเกษม มีความหนาแน่นของประชาชน การเดินทางบนถนนเพชรเกษมมีปริมาณรถคับคั่ง เราก็อยากดำเนินการพัฒนาต่อเนื่องไป"นายพีระยุทธ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เชื่อมโยงต่อเส้นทางจากระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง – บางแค โดยมีเส้นทางอยู่ตามแนวเกาะกลางของถนนเพชรเกษม เริ่มต้นที่สถานีหลักสอง มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก และสิ้นสุดบริเวณจุดตัดถนนพุทธมณฑลสาย 4 รวมระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร

รฟม.ได้ประกาศเชิญชวนบริษัทที่สนใจมารับเอกสารการจัดจ้างที่ปรึกษา ปรากฎมีบริษัทที่สนใจมาขอรับเอกสาร จำนวน 20 ราย และ บริษัทที่ขอรับเอกสารจัดจ้างที่ปรึกษานี้ จะต้องยื่นข้อเสนอภายในวันที่ 14 พ.ย.57 เพื่อให้ รฟม. ดำเนินการประเมินผลและพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอต่อไป

สำหรับการจัดหาผู้เดินรถ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง – บางแค ระยะทาง 27 กมนั้น นายพีระยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้รอความชัดเจนจากกระทรวงคมนาคม จึงจะเรียกประชุมคณะกรรมการมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) เพื่อพิจารณาจัดหาผู้เดินรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน อย่างไรก็ตามคณะกรรมการ รฟม.ได้ให้หลักการเห็นชอบที่จะให้เจรจาตรงกับผู้เดินรถเส้นทางปัจจุบัน ช่วงหัวลำโพง- บางซื่อ คือ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) เป็นผู้เดินรถส่วนต่อขยายเพราะจะทำให้ผู้โดยสารเกิดความสะดวก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ