ทั้งนี้ การรวมตัวกันภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีที่กำลังจะเกิดขึ้นปลายปี 2558 นี้ ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวทางด้านเงินทุน สินค้าและบริการเป็นไปอย่างคล่องตัว ซึ่งช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน+3 รวมทั้งปริมาณการค้าและการลงทุนก็จะสูงขึ้นด้วย ธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคจึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพื่อส่งมอบบริการข้ามพรมแดนด้านการเป็นที่ปรึกษา ด้วยข้อมูลเชิงลึกและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธนาคารผ่านช่องทางบริการที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ KBANK ในฐานะผู้ริเริ่มการประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ จึงได้จัดตั้งโครงการความร่วมมือ Taksila ASEAN Banking Forum ซึ่งเป็นการอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านการเงินให้มีศักยภาพโดดเด่นในอุตสาหกรรมการเงินในภูมิภาคเอเชีย ผ่าน 2 หลักสูตรที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ ประกอบด้วย หลักสูตรภาวะผู้นำ (Taksila ASEAN Banking Forum Leadership Program 2015) สำหรับผู้บริหารระดับสูง รวมถึงผู้นำในอนาคตที่มีศักยภาพ และหลักสูตรความเชี่ยวชาญด้านการธนาคาร (Taksila ASEAN Banking Forum Banking Expertise Program 2015) สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการธนาคาร ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ
"การที่ข้อตกลงปฏิญญากรุงเทพฯ จะสามารถบรรลุถึงเป้าหมายได้นั้น ธนาคารในภูมิภาคอาเซียนต้องมีการร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพและยกระดับการให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศไปสู่กลุ่มลูกค้าในภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง"นายบัณฑูร กล่าว