ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 361,481 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 3, 2014 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (27 – 31 ตุลาคม 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 361,481 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 72,296 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 15% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 68% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 245,589 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 80,429 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 3,728 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB15DA (อายุ 1.1 ปี) LB196A (อายุ 4.6 ปี) และ LB296A (อายุ 14.7 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 19,197 ล้านบาท 10,329 ล้านบาท และ 10,145 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด รุ่น AWN244B (AA+) มูลค่าการซื้อขาย 543 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) รุ่น DTAC167A (AA) มูลค่าการซื้อขาย 215 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) รุ่น MINT155A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 200 ล้านบาท

ราคา (Price) ของพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวลดลง หรือผู้ซื้อจะได้ผลตอบแทน (Yield) เพิ่มขึ้น ประมาณ 0.02% - 0.09% หากเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ประกาศยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE3 และ QE4) หลังจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อไป จากผลการประชุมดังกล่าว ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าราคาของพันธบัตรสหรัฐฯ (US Treasury) มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงในอนาคต (Yield สูงขึ้น) เนื่องจากจะไม่มีเม็ดเงินจากมาตรการ QE คอยเข้าซื้อพันธบัตรดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ออกมาค่อนข้างสดใส ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค. และ GDP ไตรมาส 3/57 ทำให้นักลงทุนมีแรงขายในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น US Treasury และเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น แรงขายดังกล่าวบวกกับการคาดการณ์ว่าราคาของ US Treasury จะลดลงตามการยุติมาตรการ QE ส่งผลให้ราคาพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลง และมีส่วนทำให้ราคาของพันธบัตรไทยปรับตัวลดลงตามไปด้วย (Yield สูงขึ้น)

ทางด้านของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ประกาศมาตรการอัดฉีดเพิ่มเติม (31 ต.ค.) ด้วยแผนที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นราว 30 ล้านล้านเยนต่อปี รวมถึงเพิ่มวงเงินในการเข้าซื้อกองทุน ETF และกองทุนเพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) อีก 3 เท่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ได้ การประกาศใช้นโยบายการเงินของญี่ปุ่น ส่งผลในเชิงบวกต่อตลาดการเงินของหลายประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย และยังมีส่วนทำให้นักลงทุนคาดการณ์ถึงการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 6 พ.ย. นี้ว่า ECB อาจจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากเดิม ซึ่งถือเป็นประเด็นที่นักลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ