สำหรับการร่วมมือกันในครั้งนี้จะใช้จุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่าย โดยบริษัทผู้ร่วมทุนถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ และความชำนาญด้านคอนกรีตเสาเข็ม เสาไฟฟ้ามากว่า 30 ปี ขณะที่ RWI เป็นผู้ผลิตลวดเหล็กรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศกว่า 20 ปี ซึ่งลวดเหล็กที่บริษัทผลิตนั้นเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตหมอนรถไฟคอนกรีต
"ปัจจุบันมีโรงงานที่ผลิตหมอนคอนกรีตอยู่เพียง 2-3 รายจึงไม่เพียงพอต่อการผลิตหมอนรถไฟสำหรับป้อนงานโครงการขนาดใหญ่ที่จะออกมา ประกอบกับการตั้งโรงงานผลิตหมอนรถไฟคอนกรีตต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและยังต้องมีประสบการณ์ความชำนาญในการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตอีกด้วย ดังนั้นทางบริษัทเห็นว่าการร่วมมือกันของทั้ง 2 ฝ่าย จะมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง โดยผู้ร่วมทุนสามารถขยายผลิตภัณฑ์เข้าสู่ธุรกิจการผลิตหมอนรถไฟ ส่วน RWI สามารถป้อนลวดเหล็กเข้าไปในอุตสาหกรรมดังที่กล่าวมากถือเป็นการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย และเพิ่มช่องทางรายได้ให้มากขึ้น"นายเชนินทร์ กล่าว
ปัจจุบัน RWI ได้ผลิตลวดตะแกรงเหล็กจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งกำลังจะมีการพัฒนาเป็นรั้วตะแกรงเหล็กกั้นตามแนวรถไฟที่กำลังจะมีขึ้นในงานโครงการรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงที่ทางรัฐบาลจะมีการลงทุน รวมถึง 3 เส้นทางมอเตอร์เวย์
นอกจากนี้ บริษัทยังได้เจรจาจับมือกับบริษัทรายหนึ่งเพื่อร่วมลงทุนระบบก่อสร้างแบบ Post tension รองรับการเติบโตของอาคารที่พัก สำนักงาน และอาคารสูงที่มีแนวโน้มขยายตัวตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า คาดว่าเจรจาแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และจะเริ่มดำเนินการโครงการนี้ในกลางปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยและพัฒนาของบริษัทได้เตรียมพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์โดยพัฒนาเทคโนโลยี สายการผลิตลวดเชื่อม(Co2) และลวดสปริงให้เทียบเท่ามาตราฐานสากล รองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีแนวโน้มความต้องการของตลาดยานยนต์เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดย RWI ตั้งเป้าครองส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ไม่น้อยกว่า 25% ในปี 58
นอกจากนี้ยังให้ฝ่ายการตลาดศึกษาตลาดใหม่ๆ สำหรับขยายสินค้าลวดเหล็กสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งการเปิดประตูสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตของบริษัทที่จะเพิ่มมากขึ้นจากการเพิ่มเครื่องจักรใหม่ที่กำลังจะเข้ามาอีกด้วย