ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม SYNTEC ที่ “BBB-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 5, 2014 10:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น (SYNTEC) ที่ระดับ “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลงานที่ผ่านมาของบริษัทในงานโครงการก่อสร้างอาคารสูงและมูลค่างานในมือในระดับปานกลาง ทว่าจุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะที่ผันผวนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ตลอดจนความเสี่ยงจากลักษณะงานก่อสร้างที่ไม่หลากหลาย และภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทจะสามารถทรงตัวหลังโครงการที่ประสบปัญหาต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดทยอยส่งมอบแล้วเสร็จ ในขณะที่แรงกดดันด้านต้นทุนค่าก่อสร้างน่าจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าการลงทุนในโครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์จะไม่ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มเกินกว่า 40% หรืออัตราส่วนหนี้มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเกินกว่า 0.7 เท่า

SYNTEC ก่อตั้งในปี 2531 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 บริษัทเป็นผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่เน้นรับงานโครงการก่อสร้างอาคารสูงภาคเอกชน บริษัทมีรายได้ในปี 2556 อยู่ที่ 6.2 พันล้านบาท และรายได้ในปี 2557 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.6 พันล้านบาท

บริษัทดำเนินกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงทางธุรกิจไปยังธุรกิจให้เช่าด้วยการซื้อสิทธิการเช่า Natural Ville Residence ซึ่งเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ตั้งอยู่บนถนนหลังสวน โดยสิทธิการเช่าดังกล่าวมีอายุคงเหลือ 20 ปี อย่างไรก็ดี รายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทซึ่งกว่า 80% มาจากโครงการคอนโดมิเนียม

สถานะทางธุรกิจในระดับปานกลางของบริษัทสะท้อนถึงผลงานก่อสร้างโครงการอาคารสูงเพื่อพักอาศัยและเพื่อการพาณิชย์ที่ผ่านมาในเขตกรุงเทพฯ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมีความน่าเชื่อถือในระดับที่ยอมรับได้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทรับรู้รายได้จากโครงการของ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นลูกค้าหลักคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้รวม ขณะเดียวกัน โครงการที่รับรู้รายได้สูงสุดของบริษัทในแต่ละปีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของรายได้รวม บริษัทมีความเสี่ยงจากการจ่ายเงินล่าช้าและการมีข้อพิพาททางกฎหมายกับเจ้าของโครงการ

ณ เดือนสิงหาคม 2557 บริษัทมีงานที่ยังไม่ได้ส่งมอบมูลค่า 10.3 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยรองรับรายได้กว่า 70% ของคาดการณ์รายได้ในปี 2558 และ 30% ในปี 2559

บริษัทมีผลประกอบการทางการเงินที่ดีขึ้นในปี 2556 ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ด้วยปัจจัยหนุนจากการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) โดยผลประกอบการดังกล่าวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประมาณการของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ การฟื้นตัวดังกล่าวสะท้อนการทยอยจบโครงการที่บริษัทลงนามในสัญญาก่อนปี 2555 ซึ่งส่วนหนึ่งประสบปัญหาค่าก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นกว่าที่คาดไว้อันเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัยในปี 2554 และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่เดือนเมษายน 2555

อัตราส่วนกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 9.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เปรียบเทียบกับ 5.5% ในปี 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ 26.1% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับเมื่อช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยอัตราส่วนแรกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 57.7% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) และอัตราส่วนหลังเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 11.4 เท่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เปรียบเทียบกับ 30.2% และ 7.3 เท่า ตามลำดับในปี 2556

ในช่วงปี 2557-2560 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ประมาณ 6-7 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งรวมรายได้ค่าเช่าจากโครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ที่คาดว่าจะรับรู้เข้ามาราว 100 ล้านบาทในปี 2557 จากหนึ่งโครงการ และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 300-400 ล้านบาทในปี 2561 หลังจาก 3 โครงการที่เหลือเปิดดำเนินงานทั้งหมด ทั้งนี้ โอกาสที่รายได้จากการก่อสร้างของบริษัทจะเติบโตสูงกว่าประมาณการมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากตลาดคอนโดมิเนียมในเมืองคาดว่าจะเติบโตในอัตราค่อนข้างคงที่

ในช่วงปี 2557-2560 จากการประมาณการกรณีเลวร้าย ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทจะยังสามารถทรงตัวได้ไม่น้อยกว่า 7% โดยเฉลี่ย ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบกับแผนการลงทุนที่ราว 600 ล้านบาทต่อปีที่ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนในโครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ คาดว่าจะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่น่าจะยังอยู่ในระดับไม่เกิน 40%

อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอ่อนแอลงเล็กน้อยจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน โดยในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 20% ในขณะที่อัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 5 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ