ทั้งนี้ กำไรที่มาจากธุรกิจของ ปตท.เองมีสัดส่วนราว 40% อีก 60% มาจากธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม ปตท.
"ปตท.ทำธุรกิจ Long Value Chain บริษัทลูกเช่น PTTEP โรงกลั่น และ downstream จะเห็นว่า ปตท.มีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ กำไรส่วนหนึ่งมาจาก ปตท.ทำธุรกิจเอง 40% และอีก 60% ขึ้นอยู่กับลูกๆ ถ้าลูกขาดทุนก็กระทบแม่บ้าง เฉลี่ยแล้วกำไรไม่ลงเยอะ น่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน" นายวิรัตน์ กล่าว
นายวิรัตน์ กล่าวว่า จากการปรับขึ้นราคาก๊าซ NGV มาที่ 12.50 บาท/กก.ทำให้ในปีนี้ภาระขาดทุนของ ปตท.ลดลงประมาณ 500 ล้านบาท จากปีก่อนที่ได้รับผลขาดทุนสูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากต้นทุนของ ปตท.อยู่ที่ 16 บาท/กก. ส่วนธุรกิจก๊าซ LPG ก็ยังรับผลขาดทุนปีนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ย 540 เหรียญ/ตัน จากราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่ 605 เหรียญ/ตัน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในธุรกิจก๊าซ NGV-LPG ในปีนี้ก็ยังมีภาระขาดทุนอยู่
อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาขายก๊าซ NGV และ LPG มีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นตามนโยบายรัฐบาล และ จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 58 จะเป็นตัวเร่งที่ราคาขายจะปรับได้ตามราคาตลาดโลก
ส่วนแผนการลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 58-62) จะมีการทบทวนใหม่จากแผนลงทุน 5 ปีเดิม(ปี 57-61) ซึ่งกำหนดวงเงินลงทุน 3.72 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทในเดือน พ.ย.หรือ ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ งบลงทุนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งงบดังกล่าวยังไม่รวมโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์ในเวียดนามที่คาดว่าจะได้ความชัดเจนในไตรมาส 3/58 ขณะเดียวกันจะมีการลงทุนการจัดหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ แผนการลงทุน 5 ปียังจะเน้นการขยายธุรกิจก๊าซที่จะเพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ท่อก๊าซเส้นที่ 4 และเส้นที่ 5 รวมทั้งการลงทุนคลัง LNG เฟส 2 ที่มีขนาด 5 ล้านตัน ซึ่งจะสร้างเสร็จในปี 60
นายวิรัตน์ กล่าวว่า ปตท.มีแผนจะออกหุ้นกู้วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท อายุใกล้ 7 ปีในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะครบกำหนดในเดือน ธ.ค.นี้ แม้ว่าบริษัทจะไม่มีความจำเป็นใช้เงินทุนมากนัก แต่ต้องการรักษาฐานผู้ถือหุ้นกู้ของ ปตท.ที่ปัจจุบันมีอยู่ 4 หมื่นราย วงเงินรวม 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งวันนี้เปิดตัวเว็บไซด์สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ ปตท.ให้เข้ามาจองซื้อ
อนึ่ง ปัจจุบัน ปตท.มีกระแสเงินสดสูงถึง 6-7 หมื่นล้านบาท