CWT สรุปร่วมทุนโซลาร์รูฟ พ.ย.,ออร์เดอร์ทะลักดันรายได้ปี 58 โตกว่า 25%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 6, 2014 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายหนึ่งที่ชักชวนให้ลงทุนติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)หากรัฐบาลเปิดโครงการรับซื้อไฟฟ้าอีกครั้ง โดยคาดว่าหากมีข้อสรุปกน่าจะลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น(MOU)ภายในช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวน่าจะเริ่มต้นติดตั้งขนาด 2 เมกะวัตต์ จากที่สำรวจพื้นที่หลังคาทั้งหมดของโรงงาน CWT สามารถทำได้ถึง 6 เมกะวัตต์ โดยบริษัทเป็นเจ้าของพื้นที่ดูแลเรื่องเตรียมการณ์ติดตั้งบนหลังคาโรงงาน 3 แห่งใน จ.สมุทรปราการ ที่อยู่ใกล้กับสายส่งของการไฟฟ้า พื้นที่รวมกันกว่าหมื่นตารางเมตร ส่วนจะทำครบ 6 เมกะวัตต์เมื่อใดนั้น คงต้องรอดูนโยบายของรัฐบาล

วัตถุประสงค์ในการลงทุนมี 2 ส่วน คือ การขายไฟฟ้าให้กับรัฐบาลที่ค่า adder 6 บาท/หน่วย และผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานเพื่อลดต้นทุนของบริษัท คาดว่าจะคุ้มทุนภายใน 7 ปี ภายใต้สัญญาขายไฟระยะเวลา 25 ปี ดังนั้น หลังจากถึงจุดคุ้มทุนก็จะเป็นไฟฟ้าต้นทุนต่ำ ประเมินเงินลงทุนราว 40 ล้านบาท/เมกะวัตต์สำหรับชุดอุปกรณ์และการบำรุงรักษา ซึ่งบริษัทมีเงินลงทุนเตรียมไว้แล้ว และเป็นสัดส่วนเงินที่ต่ำกว่าผู้ร่วมทุน เพราะมีสินทรัพย์เป็นหลังคาอาคารโรงงาน

"คาดสรุปสัดส่วนการถือหุ้นต้นเดือนพ.ย.เมื่อ MOU ออกมา ส่วนรายได้คาดว่าจะเข้ามาหลังจากได้ใบอนุญาตแล้วอีก 6 เดือน โดยรายได้เริ่มต้น 6 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ถ้าติดตั้งได้ 1 เมกะวัตต์เต็มๆ ก็จะเป็นรายได้ให้กับบริษัทในปีถัดไป"นายวีระพล กล่าว

นอกจากนี้ ในปี 58 บริษัมจะร่วมกับลูกค้าไปเปิดสายการผลิตใหม่ในประเทศพม่า ซึ่งเป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่ย้ายฐานการผลิตไปจากไทย เพื่อป้อนสินค้าให้กับโรงงานดังกล่าว คาดหวังยอดขายหลัก 100 ล้านบาทในปีแรก โดยปีนี้เริ่มทดลองไลน์การผลิต เบื้องต้นเป็นการร่วมทำงานกัน แต่ยังไม่ได้จัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุน

"ย้ายไลน์การผลิตไปพม่าน่าจะมียอดขายเริ่มต้น 100 ล้านบาท/ปีแรก แต่ถ้าพม่าได้ GSP จากการส่งออกเมื่อใดบริษัทก็จะได้ประโยชน์อย่างมาก ตอนนี้เป็นการขายกับลูกค้าประจำในพม่าของเรา แต่พอพม่าได้สิทธิ GSP ยอดขายก็จะอยู่ที่พม่ามากขึ้น"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวอีกว่า บริษัทตั้งเป้าหมายในปี 58 รายได้รวมจะเติบโตมากกว่า 25% จากปีนี้ เนื่องจากปีหน้าบริษัทได้แรงหนุนจากออร์เดอร์ลูกค้าค่ายอีซูซุ และฮอนด้าที่เข้ามาเต็มที่แล้ว ปัจจุบันมียอดขายรอรับรู้รายได้(Backlog)ราว 1,200 ล้านบาท ทำให้คาดว่าปี 58 เป้ารายได้น่าจะเกิน 1,200 ล้านบาท โดยธุรกิจหลักยังเป็นการผลิตชิ้นส่วนหนังสำหรับรถยนต์(กลุ่มออโต้)กว่า 70-80% ซึ่งจะเติบโตไปตามอุตสาหกรรมรถยนต์ที่คาดว่าจะมียอดผลิตรถยนต์ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคัน หลังจากปีนี้ชะลอตัวไป

ส่วนรายได้รวมในปีนี้คาดว่าจะทำได้เกิน 1,000 ล้านบาท แม้ครึ่งปีแรกจะมีรายได้กว่า 400 ล้านบาท แต่ไตรมาส 3/57 รายได้น่าจะสูงกว่าไตรมาส 2/57 เพราะสถานการณ์รอบด้านดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวไปมาจนแทบไม่มีกำลังการผลิตเลย แต่เมื่อมาถึงไตรมาส 3 บริษัทเริ่มผลิตมากขึ้น

"ปีนี้แค่ปรับฐาน หลังจากนั้นออร์เดอร์ที่เราคาดหมายได้เต็มๆ ทั้งอีซูซุ และฮอนด้าเข้ามาเต็มที่ ก็จะทำให้ปีถัดไปเป็นปีที่ดีจากกลุ่มลูกค้าที่ยืนยันออร์เดอร์มาแล้ว ซึ่งออร์เดอร์ 2 รายนี้ก็แทบเต็มกำลังการผลิตแล้ว อย่างอีซูซุ ดีแมกซ์เป็นโมเดลตัวใหม่ ส่วนฮอนด้าก็ทุกโมเดลทั้งซีอาร์วี แอคคอร์ด ซีวิค เพราะของเราทำเบาะหนังให้กับกลุ่มรถยนต์ Backlog ตอนนี้จะเป็นยอดขายในปีหน้าน่าจะเกิน 1,200 ล้านบาท"นายวีระพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของกำไรสุทธิในปีนี้น่าจะออกมาเสมอตัว หลังจากครึ่งปีแรกมีผลขาดทุนราว 29 ล้านบาท โดยบริษัทจะพยายามทำให้ผลประกอบการทั้งปีไม่ติดลบ ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ เพราะแนวโน้มรายได้ไตรมาส 3/57 สูงกว่าไตรมาส 2/57 ส่วนในปี 58 หากรายได้เกิน 1,200 ล้านบาท กำไรสุทธิน่าจะเป็นบวกขึ้นมาก เพราะในปี 55 มีรายได้กว่า 1,200 ล้านบาท และกำไรเกือบร้อยล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทวางงบลงทุนปี 58 ไม่เกิน 100 ล้านบาทตามงบลงทุนปกติในแต่ละปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ