การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ โครงการหลัก คือ ท่อก๊าซหลักเส้นที่ 5 จากระยอง-ไทรน้อยผ่านเข้าโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและโรงไฟฟ้าพระนครใต้ วงเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 64
และ โครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FLNG) จำนวน 2 ลำ เงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท/ลำ โดยจะตั้งบริเวณภาคใต้ 1 ลำ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้ และอีกลำจะตั้งในฝั่งพม่า นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มหน่วยบริหารคุณภาพก๊าซ และท่อก๊าซในทะเล รวมทั้งการตั้งคลัง LNG เฟส 3 ที่มีขนาด 5 ล้านตันด้วย
"แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ งบทั้งหมด 219,000 ล้านบาท โครงการทั้งหมดจะเสร็จปี 66 โดยลงทุนท่อเส้นที่ 5 ลงทุนครึ่งหนึ่ง แผนลงทุนระบบท่อก๊าซที่ต้องขออนุมัติเห็นชอบกพช. และสอดคล้องกับ PDP ฉบับใหม่ และ กกพ.ที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณใช้ผ่านท่อก๊าซ" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ หากรัฐบาลปรับราคาขายปลีกก๊าซ NGV ปตท.ที่มีแผนขยายสถานีหลัก NGV ตามแผน หลังจากที่ผ่านมาชะลอการลงทุน เพราะยิ่งขายมากก็ยิ่งขาดทุนมาก เนื่องจากต้นทุนการผลิต NGV อยู่ที่ 16 บาท/กก.แต่ราคาขายอยู่ที่ 10.50 บาท/กก. แม้วาจะปรับขึ้นมาที่ 11.50 บาท/กก.ในปัจจุบัน แต่ก็ยังต่ำกว่าราคาขายก๊าซผ่านโรงไฟฟ้า
เช่นเดียวกันหากมีการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ปตท.ก็มีโอกาสขยายกำลังการผลิตโรงแยกก๊าซได้อีกประมาณ 1.5 แสนตัน/ปี โดยปัจจุบันราคาขายหน้าโรงแยกก๊าซถูกกำหนดที่ 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน ที่ผ่านมา ปตท.ได้ขอปรับราคาขายที่ 500 เหรียญสหรัฐ/ตันแต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลชุดก่อนหน้าและรัฐบาลปัจจุบัน ขณะที่มีการนำเข้าก๊าซ LPG ที่ราคา 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน
อนึ่ง ราคาต้นทุนเฉลี่ยก๊าซ LPG ของ ปตท. อยู่ที่ 540 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยมาจาก 3 แหล่ง คือ จากโรงแยกก๊าซของปตท. สัดส่วน 46% มาจากโรงกลั่นของกลุ่มปตท. 27% และจากการนำเข้า 27% ขณะที่ราคาขายก๊าซ LPG ในตลาดโลกขณะนี้อยู่ที่ 605 เหรียญสหรัฐ/ตัน