ทั้งนี้ ช่วงราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดส่วนลดให้กับนักลงทุนราว 10-20% เมื่อเทียบกับ P/E ในอุตสากรรมเดียวกันที่ 20-30 เท่า
นายแมนพงศ์ กล่าวอีกว่า สัดส่วนการจัดสรรหุ้น IPO ของ CBG แบ่งเป็นสัดส่วน 50-60% จะจำหน่ายให้แก่นักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายให้แก่นักลงทุนรายย่อย สำหรับวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้จะนำไปชำระหนี้เงินกู้สถาบันการเงินราว 4.5 พันล้านบาท และจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเป็น 0 จาก 6 เดือนแรกที่อยู๋ในระดับ 3.6 เท่า
CBG ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยบริษัทลงทุนบริษัทย่อยที่เป็นธุรกิจหลัก 3 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท คาราบาตะวันแดง จำกัด เป็นผู้ผลิต ทำการตลาด และจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังภายใต้เครื่องหมายการค้าคาราบาวแดง และเครื่องดื่มอื่นๆ ปัจจุบัน CBD ผลิตเครื่องดื่ม 2 ชนิด ได้แก่ คาราบาวแดง และเครื่องดื่มเกลือแร่ภายใต้เครื่องหมายการค้าสตาร์ทพลัส
2. บริษัท ตะวันแดง ดีซีเอ็ม จำกัด เป็นบริษัทซึ่งบริหารจัดการการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทฯ ให้แก่ช่องทางการค้าภายในประเทศผ่านร้านค้าแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) และร้านค้าแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) และ 3.บริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส จำกัด เป็นผู้ผลิต และจัดหาขวดแก้วเพื่อใช้ในการบรรจุเครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มอื่นๆ ของกลุ่มบริษัท
โครงสร้างผู้ถือหุ้นก่อนการเสนอขาย IPO กลุ่มนายเสถียร ถือหุ้นอยู่ที่ 41.5% กลุ่มน.ส.ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ ถือหุ้น 31.2% กลุ่มนายยืนยง โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว ถือหุ้น 16.7% และ Jubilee International Investment Ltd ถือหุ้น 10.6% และหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO กลุ่มนายเสถียร จะถือหุ้นเหลือ 34.3% กลุ่ม น.ส.ณัฐชไม ถือหุ้น 26.6% กลุ่มแอ๊ด คาราบาว ถือหุ้นเป็น 14.2% โดยเสนอขายหุ้น IPO ในสัดส่วน 25%
นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CBG กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ที่ 8 พันล้านบาท โดยในครึ่งปีหลังบริษัทจะพยายามทำกำไรสุทธิให้ดีกว่าครึ่งปีแรกที่มีกำไรสุทธิ 495.2 ล้านบาท เพื่อให้กำไรสุทธิดีกว่าปีก่อนที่มีกำไร 626.4 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทยมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ราว 3.6 หมื่นล้านบาท/ปี นับว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ที่ 20%
สำหรับในปี 58 บริษัทคาดว่ารายได้และกำไรสุทธิจะเติบโตขึ้นราว 25% ต่อเนื่องจากปีนี้ ตามการเติบโตขึ้นของยอดขายเครื่องดื่มชูกำลังทั้งไนและต่างประเทศ และการรุกทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเน้นกลุ่มน CLMV ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนยอดขายหลักให้กับบริษัท และให้กำไรที่ค่อนข้างดีกว่าการขายในประเทศ ประกอบกับบริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตบรรจุถัณฑ์ เนื่องจากบริษัทมีโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์เป็นของบริษัทเองกำลังการผลิต 1.2 พันล้านขวด/ปี
อีกทั้งต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงินจะสดลงไปด้วย หลังจากบริษัทนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ส่วนหนึ่งไปชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่ 4.25 พันล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีตอ่กำไรสุทธิ
นายเสถียร กล่าวว่า แนวโน้มของยอดขายเครื่องดื่มชูกำลังทั้งในประเทศและต่างประเทศเติบโตขึ้น โดยเฉพาะยอดขายจากประเทศกัมพูชาประสบความสำเร็จในการทำตลาดจนกลายเป็นเครื่องดื่มชูกำลังอันดับ 1 ในตลาด ดังนั้น บริษัทจึงตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายเครื่องดื่มชูกำลังในต่างประเทศเพิ่มเป็น 50% ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า(ปี 59-60)จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 30% บริษัทจะนำกลยุทธ์รูปแบบ Push & Pull ไปใช้ในการทำตลาดในเมียนมาร์และเวียดนาม ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีศักยภาพในการเติบโตค่อนข้างมากตามการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ