ถึงแม้ว่ารายได้รวมจะเติบโตในอัตราที่ต่ำ แต่กำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ ซึ่งได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) หรือเอไอเอส (อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ: ‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) (อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ: ‘BBB’/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก) และ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) (ไม่ได้จัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์) จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง การเติบโตของกำไรดังกล่าวเป็นผลมาจากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ภาครัฐ (Regulatory Cost) ที่ลดลงจากการย้ายฐานผู้ใช้บริการและการใช้งานไปยังระบบใบอนุญาต 3G ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ภาครัฐต่ำกว่าระบบสัญญาสัมปทานเดิม
ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ภาครัฐต่อรายได้จากค่าบริการของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่จะปรับตัวลดลง 4%-5% ในปี 2558 อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายที่ลดลงดังกล่าวอาจถูกลดทอนบางส่วนด้วยค่าใช้จ่ายทางด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้น ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการรายใหญ่จะยังคงรักษากิจกรรมทางการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G / สมาร์ทโฟน และการใช้งานข้อมูลทางมือถือ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด
กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ น่าจะติดลบในปี 2558 จากเงินลงทุนที่สูงสำหรับการขยายเครือข่าย 3G และการลงทุนในคลื่นความถี่เพิ่มเติม อัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Financial Leverage) น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตของผู้ประกอบการได้พิจารณาถึงกรณีที่อัตราการเติบโตของกำไรที่อยู่ในระดับต่ำ และฐานะทางการเงินที่ปรับตัวแย่ลง ไว้แล้ว
ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่สุดสองราย ได้แก่ เอไอเอส และ DTAC มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตปัจจุบัน ซึ่งน่าจะช่วยลดผลกระทบในแง่ลบต่ออันดับเครดิตในช่วงที่มีการลงทุนสูง