ทั้งนี้ เชื่อว่าการเสนอขายหุ้น IPO ของ VPO จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริษัทมีจุดแข็งจากการมีกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบขนาดใหญ่ถึง 180 ตันปาล์มทะลายต่อชั่วโมง ซึ่งจัดเป็นผู้ผลิตที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทำให้บริษัทเป็นเพียงผู้ผลิตไม่กี่รายที่สามารถส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปยังต่างประเทศได้ด้วยตนเอง และบริษัทยังใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต และทำให้น้ำมันปาล์มดิบของบริษัทมีคุณภาพดีเทียบเท่ามาตรฐาน โลก รวมทั้งอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบของไทยจะได้รับผลดีจากการ เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 58
VPO เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 236 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท คิดเป็น 25.11% ของทุนชำระแล้ว ซึ่งการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้แบ่งเป็น การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 140 ล้านหุ้น และจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 96 ล้านหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 4 แห่ง ได้แก่ บล.กสิกรไทย บล.ฟินันเซีย ไซรัส บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) และ บล.เอเซีย พลัส
บริษัทได้นำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุน(Road show)ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดนครราชสีมา ก็ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม โดยจะเปิดให้จองซื้อหุ้น IPO ในวันที่ 14 และ 17-18 พ.ย.และคาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)ในหมวดธุรกิจการเกษตร ในวันที่ 24 พ.ย.57 ใช้ชื่อย่อ “VPO"
ด้านนางสาวนภาลักษณ์ วัยศิริโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ ควอนท์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า VPO มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญสำหรับอุปโภคบริโภค และยังสามารถใช้เป็นพลังงานทดแทน(ไบโอดีเซล) โดยปาล์มเป็นผลิตผลที่มูลค่ามีโอกาสเพิ่มในอนาคต ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จำนวน 637 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและคืนเงินกู้ คาดว่าจะช่วยสร้างศักยภาพให้บริษัทเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว
ขณะที่ นายกฤษดา ชวนะนันท์ กรรมการผู้จัดการ VPO เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจกำไรสุทธิปีนี้จะมากกว่าปีก่อนที่ 172 ล้านบาท ถึงแม้รายได้จะต่ำกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 3.2 พันล้านบาท เนื่องจากผลผลิตปีนี้น้อยกว่าปีก่อน แต่บริษัทก็มีการบริหารจัดการด้านต้นทุน ประกอบกับ บริษัทมีการส่งออกมากขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วนการส่งออกราว 70% ซึ่งการส่งออกมีอัตรากำไร(มาร์จิ้น)ที่สูงกว่าการขายในประเทศ ส่งผลให้กำไรสุทธิปีนี้สูงขึ้น
"ปีนี้รายได้ของเราอาจจะลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย แต่กำไรของเรายังมากกว่าปีก่อนแน่นอนเพราะเรามีการบริหารจัดการเรื่องต้นทุน และส่งออกมากขึ้น ซึ่งการส่งออกนั้นมีมาร์จิ้นที่สูงกว่าในประเทศบางช่วงเวลา ทำให้ปีนี้กำไรสุทธิของเราดีขึ้น"นายกฤษดา กล่าว
นอกจากนั้น บริษัทยังมีแผนศึกษาโอกาสในการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อใด หรืออาจจะไม่มีการลงทุนก็เป็นได้ ซึ่งยังต้องรอดูความเหมาะสมและความเป็นไปได้ก่อน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 1 พันล้านบาท